บทคัดย่อ ชื่อเรื่อง การบริหารเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพ
ชื่อเรื่อง การบริหารเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ด้านการอยู่อย่างพอเพียง ของนักเรียนโรงเรียนวัดตะโกสูง(เหรียญอุปถัมภ์)
อําเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม
ผู้ศึกษา นายปรัชญา ปรีชม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตะโกสูง(เหรียญอุปถัมภ์)
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1
ปีที่วิจัย 2555 - 2556
..............................................................................................................................................
การบริหารเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนด้านการอยู่อย่างพอเพียง ของนักเรียนโรงเรียนวัดตะโกสูง (เหรียญอุปถัมภ์) อําเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เป็นการพัฒนาผู้เรียนในด้านการอยู่อย่างพอเพียง โดยโรงเรียนกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และ ค่านิยม ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นคุณลักษณะที่สังคมต้องการอันประกอบด้วย 8 คุณลักษณะ ได้แก่ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน โรงเรียนวัดตะโกสูง(เหรียญอุปถัมภ์) อําเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้ดําเนินการตั้งแต่ วันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556 โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการของ Kemmis และ Mctaggart ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตผล และการสะท้อนผล ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) การประชุมแบบมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์AIC (Appreciation Influence Control) 2) การเสริมแรง 3) การนิเทศ 4) การเยี่ยมบ้าน กลุ่มผู้ร่วมศึกษาประกอบด้วย ผู้ศึกษา ครูผู้สอนสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม จํานวน 2 คน กลุ่มเป้าหมายได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 6 คน ซึ่งเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 พร้อมด้วยนักเรียน จำนวน 100 คน รวมทั้งหมด จำนวน 106 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย แบบทดสอบวัดความรู้ แบบประเมินพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์และแบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการพัฒนาพบว่า ก่อนการบริหารเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนด้านการอยู่อย่างพอเพียง นักเรียนมีความฟุ้งเฟ้อและมีค่านิยมทางวัตถุ ขาดความพอเพียง ความพอประมาณ จากการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร เพราะการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ครูขาดความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้ ขาดความเอาใจใส่ ขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีการวางแผนที่ดี ขาดการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด และแบบรูปธรรม การพัฒนารอบการปฏิบัติที่ 1 ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ AIC ทำให้คณะครูมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถพัฒนาการดำเนินให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่อย่างพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสามก้อนเส้า และกิจกรรมการศึกษาดูงานไร่นาสวนผสม ในรอบการปฏิบัติที่ 2 โดยมี 2 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 2 การเสริมแรง ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเสริมรายได้ระหว่างเรียน และกิจกรรมการประกวดเยาวชนพอเพียง ส่งผลให้นักเรียนตระหนักถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการอยู่อย่างพอเพียงและเป็นกระตุ้นให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดทั้งมีกลยุทธ์ที่ 3 การนิเทศ ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมอยู่อย่างพอเพียงดีขึ้น หลังการดําเนินงานสร้างเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่อย่างพอเพียง นักเรียนจำนวน 100 คน ในรอบการปฏิบัติที่ 2 โดยรวมนักเรียนมีระดับการปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.10 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.88 มีนักเรียนจํานวน 72 คน ที่ผ่านการประเมินพฤติกรรมอยู่อย่างพอเพียงอยู่ในระดับมาก โดยแต่ละคนมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.51 ขึ้นไป แต่ยังมีนักเรียน จำนวน 28 คน ที่มีพฤติกรรมอยู่อย่างพอเพียงน้อยกว่าระดับมาก โดยแต่ละคนมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 3.51 จึงต้องมีการพัฒนาในรอบการปฏิบัติที่ 3 โดยมีกลยุทธ์การเยี่ยมบ้าน ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมจากใจถึงใจ กิจกรรมเดินตามรอยเท้าพ่อ และ กิจกรรมประกวดครอบครัวพอเพียง ทำให้นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสมดีขึ้นทุกคน หลังการบริหารเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการอยู่อย่างพอเพียงพบว่า นักเรียนจำนวน 28 คน ในรอบการปฏิบัติที่ 3 โดยรวมนักเรียนมีระดับการปฏิบัติ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.57 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.54 มาก โดยแต่ละคนมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.51 ขึ้นไป
หลังเสร็จสิ้นรอบการปฏิบัติที่ 3 เพื่อติดตามผลพฤติกรรมความยั่งยืนด้านการอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน จึงต้องมีการประเมินพฤติกรรมในรอบการปฏิบัติที่ 4 กิจกรรมการประเมินความยั่งยืน พบว่า นักเรียนทั้งหมด 88 คน ทุกคนมีพฤติกรรมความยั่งยืนด้านการอยู่อย่างพอเพียง โดยนักเรียนมีระดับการปฏิบัติ อยู่ในระดับมากขึ้นไป ส่วนนักเรียนจำนวน 12 คน ไม่ได้รับการประเมินเพราะได้จบการศึกษาไปแล้วในปีการศึกษา 2555 การบริหารเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนด้านการอยู่อย่างพอเพียงประสบผลสำเร็จ จึงเผยแพร่ผลงานในรอบการปฏิบัติที่ 5 กิจกรรมเครือข่ายโรงเรียนพอเพียง พบว่า การดำเนินงานเครือข่ายโรงเรียนพอเพียง มีสมาชิกครือข่ายโรงเรียนพอเพียงจำนวน 10 โรงเรียน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสารให้แก่กันและช่วยเหลือกันในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน
โดยสรุป การบริหารเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนด้านการอยู่อย่างพอเพียง ของนักเรียนโรงเรียนวัดตะโกสูง (เหรียญอุปถัมภ์) อําเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 ตามกรอบการศึกษา คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม โดยใช้ 4 กลยุทธ์ 7 กิจกรรม ในการพัฒนางาน ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ มีการวางแผนที่ดี เอาใจใส่และกำกับการจัดกิจกรรมอย่างใกล้ชิด และเป็นแบบรูปธรรม ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายเกิดจิตสำนึกด้านการอยู่อย่างพอเพียง พร้อมทั้งบรรลุตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ จึงควรส่งเสริม สนับสนุน พัฒนากลยุทธ์และกิจกรรมไปใช้ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการอยู่อย่างพอเพียงในโรงเรียนและหน่วยงานอื่นต่อไป