แนวทางการบริหารและความพึงพอใจของนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเว
“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โรงเรียนวัดดอนมะม่วง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1
ผู้วิจัย: นางสาววิชราณี สุวพิศ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ
หน่วยงาน: โรงเรียนวัดดอนมะม่วง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1
ปีที่วิจัย: 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัย คือ 1)เพื่อศึกษาการบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียนวัดดอนมะม่วง 2)เพื่อเปรียบเทียบการบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียนวัดดอนมะม่วงจำแนกข้อมูลส่วนบุคคล 3)เพื่อศึกษาความพึงพอของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โรงเรียนวัดดอนมะม่วงจำแนกข้อมูลส่วนบุคคล และ 4)เพื่อเสนอแนวทางการบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนวัดดอนมะม่วง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ด้วยการสุ่มกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะเจาะด้วยวิธีการแบ่งชั้นภูมิ วิเคราะห์และประมวลผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที การวิเคราะห์ความแปรปรวน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ครูในโรงเรียนวัดดอนมะม่วง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์การทำงานต่ำกว่า 10 ปี
2. การบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยภาพรวม ด้านโครงสร้างเวลาเรียนและตารางเรียน ด้านรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านการดำเนินกิจกรรม ด้านการวัดและประเมินผล และด้านสื่อและแหล่งการเรียนรู้อยู่ในระดับมาก
3. ครูผู้สอนที่มีประสบการณ์ทำงานต่างกัน มีการบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยภาพรวม ด้านโครงสร้างเวลาเรียนและตารางเรียน ด้านรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านการดำเนินกิจกรรม ด้านการวัดและประเมินผล และด้านสื่อและแหล่งการเรียนรู้ แตกต่างกัน โดยครูผู้สอนที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 10 ปี มีการบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” สูงกว่าครูผู้สอนที่มีประสบการทำงานน้อยกว่า 10 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
4. นักเรียน ผู้ปกครอง และครูมีความระดับความพึงพอใจของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โรงเรียนวัดดอนมะม่วง ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
5. แนวทางการบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” คือ 1) ด้านโครงสร้างเวลาเรียนและตารางเรียน คือ สถานศึกษาปรับรายวิชาที่เรียน โดยยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และจัดกิจกรรมให้ครบตามหลัก 4H (Head, Heart, Hand และ Health) 2) ด้านรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ คือ สถานศึกษาจัดกระบวนการเรียนการสอนตามระดับชั้นหรือช่วงชั้น ซึ่งครูเป็นผู้กำหนดกระบวนการการจัดการเรียนการสอนตามศักยภาพ ความสามารถ และความสนใจของนักเรียน 3) ด้านการดำเนินกิจกรรม คือ สถานศึกษาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนทราบ ผู้บริหารจัดการประชุมเพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินกิจกรรม 4) ด้านสื่อและแหล่งการเรียนรู้ คือ สถานศึกษาจัดทำโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณ ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูเป็นผู้จัดเตรียม สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ และ 5) ด้านการวัดและประเมินผล คือ สถานศึกษามีการวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จัดนิทรรศการวิชาการ เพื่อให้นักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้