นางสาววรรณนิตา พงษ์พันธุ์ 2
เรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มสาระ การเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
ชื่อผู้วิจัย นางสาววรรณนิตา พงษ์พันธุ์ ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2559 (พ.ศ. 2559 – 2560)
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ 2)เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ4) เพื่อประเมินรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้จากวัสดุธรรมชาติ ในท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ การวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ผู้บริหารและครูในโรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ประเด็นปัญหาของการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ในการสนทนากลุ่ม ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ครูผู้สอน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนที่ทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ จำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ รูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนรู้และแบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ ประชากรที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ จำนวน 26 คน โดยใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างอย่างง่ายแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ รูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินคุณลักษณะของนักเรียนและแบบวัดเจตคติต่อการเรียน ขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ รูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแบบสอบถามเพื่อประเมินรูปแบบการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ร้อยละค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระที่ 4 : การอาชีพ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผลการสังเคราะห์การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สรุปได้ว่า ปัญหาของการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระที่ 4 : การอาชีพ ชั้นประถม ศึกษาปีที่ 4 ของนักเรียนคือ เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้ การจัดทำหน่วยการเรียนรู้คือหน่วยการเรียนรู้ เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น และวิธีการจัดการเรียนรู้ คือ รูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. รูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (WELED Model) ประกอบด้วย การนำเข้าสู่บทเรียน (W : Warm Up) การอธิบายความ (E : Explaining) การเรียนรู้และปฏิบัติ ( L & D : Learning and Doing) การประเมินผล (E : Evaluating) และการพัฒนา (D : Developing) ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า โดยรวมรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพยงมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด
3. การทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้จากวัสดุธรรมชาติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คุณลักษณะของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ในระดับมากที่สุด เจตคติต่อการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า โดยรวมนักเรียนมีเจตคติต่อการเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด
4. การประเมินรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติม ผลการประเมินรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า โดยรวมรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ทุกด้าน มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด