โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด
ของโรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) จังหวัดอุตรดิตถ์
ผู้วิจัย นางเสริมสิริ เยาวพักตร์
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) สังกัดกองการศึกษาเทศบาล
เมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การประเมินในครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีการศึกษา 2559 ด้วยรูปแบบการประเมินแบบไอโปเอส (IPOOEST Model) คือ ด้านปัจจัยนำเข้า (Input:I) ด้านกระบวนการ (Process:P) ด้านผลผลิต (Outputs:O) ด้านผลลัพธ์ (Outcomes:O) ด้านประสิทธิผล (Effectiveness:E) ด้านความยั่งยืน (Sustainable:S) และด้านผลการถ่ายโยงความรู้ (Transportation:T) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง โดยเปิดตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan)และทำการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 20 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 คน ครูและผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 66 คน และผู้เรียน จำนวน 1,096 คน ปีการศึกษา 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามจำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 แบบประเมินโครงการด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ด้านผลผลิต (Outputs Evaluation) ด้านผลลัพธ์ (Outcomes Evaluation) ด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) ด้านความยั่งยืน (Sustainable Evaluation) และด้านผลการถ่ายโยงความรู้ (Transportation Evaluation) ใช้ประเมินหลังการดำเนินการมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามสำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยสอบถามความพึงพอใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การนิเทศ การดำเนินงานตามองค์ประกอบ 10 องค์ประกอบใช้ประเมินหลังดำเนินการ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.85 และแบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงแบนมาตรฐาน การสนทนากลุ่ม (Focused Group Discussion) การศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามโครงการ และข้อเสนอแนะในการพัฒนาปรับปรุงโครงการ
ผลประเมิน พบว่า
1. ผลประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีการศึกษา 2559 โดยภาพรวมพบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและผู้บริหารสถานศึกษา มีความคิดเห็นต่อการดำเนินงาน โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ของโรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีการศึกษา 2559 โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่ใช้ เช่น วัคซีนป้องกันโรค สารไอโอดีนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่างเพียงพอ
3. ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ผู้บริหารได้นำข้อมูลสารสนเทศที่คณะทำงานได้สรุปรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องทราบความก้าวหน้า รวมทั้งสามารถประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการหรือเป้าหมายที่กำหนด
4. ด้านผลผลิต (Outputs Evaluation) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ผู้เรียนได้รับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เช่น การตรวจสุขภาพ การฉีดวัคซีน การเฝ้าระวังสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลเบื้องต้นจากครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
5. ด้านผลลัพธ์ (Outcomes Evaluation) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ บุคลากรในโรงเรียนได้รับบริการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีจากโรงพยาบาลโดยนัดหมายในวันหยุดเรียน มีการตรวจเลือด การเอกเรย์ปอด การตรวจคลื่นหัวใจ ในโรงเรียนส่วนมากมีสุขภาพดีมาก
6. ด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ครู ผู้ปกครอง ผู้เรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารเทศบาลต้นสังกัด ชื่นชมยินดีผลสำเร็จของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ
7. ด้านความยั่งยืน (Sustainable Evaluation) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรในโรงเรียน และผู้เรียนมีความมุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง
8. ด้านผลการถ่ายโยงความรู้ (Transportation Evaluation) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู บุคลากรในโรงเรียน และผู้เรียนนำความรู้ด้านทักษะสุขภาพขยายผลไปสู่ชุมชนครอบครัวได้
9. ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนต่อการดำเนินการโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโดยภาพรวมทุกด้านพบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
ผลการศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลการสนทนากลุ่ม (Focused Group Discussion) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา มีข้อเสนอแนะให้มีการศึกษาเชิงปฏิบัติการ (Action research) เพื่อหาจุดเด่นจุดด้อยที่ควรปรับปรุงแก้ไข ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานศึกษาได้มีส่วนร่วมในการวางแผนงาน ร่วมปฏิบัติ ควรจัดการอบรมให้ความรู้ให้กับครูในเรื่องการประเมินผลโครงการโดยเฉพาะ ตลอดจนหารูปแบบวิธีการบริหารจัดการด้านนโยบาย บริหารการจัดการ การนิเทศ ควรทำเป็นประจำทุกปีการศึกษา นำผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาเผยแพร่ให้ทราบความก้าวหน้า