รายงานผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์เพื่อส่ง
โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
ชื่อผู้วิจัย นางชัชฎา สีรินทร์
ระดับชั้น ปฐมวัย
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
รายงานผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็ก ของเด็กปฐมวัยอนุบาลชั้นปีที่ 1/1 โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก สำนักงานเขต มีนบุรี กรุงเทพมหานคร การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็ก โดยจำแนกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านความแข็งแรงของมือ ด้านการทำงานประสานสัมพันธ์กันระหว่างมือกับตา ด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กช่วยเหลือตนเอง และด้านการเตรียมความพร้อมและการใช้อุปกรณ์ในการเขียนของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์และเปรียบเทียบพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลชั้นปีที่ 1/1 โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์ และแบบทดสอบวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย จำนวน 4 ชุด ดังนี้ ด้านความแข็งแรงของมือ ด้านการทำงานประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กช่วยเหลือตนเอง และด้านการเตรียมความพร้อมและการใช้อุปกรณ์ในการเขียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยใช้สถิติ t - test สำหรับ Dependent Samples
ผลการวิจัยพบว่า
1. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยอนุบาลชั้นปีที่ 1/1 โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านความแข็งแรงของมือ ด้านการทำงานประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กช่วยเหลือตนเอง และด้านการเตรียม ความพร้อมและการใช้อุปกรณ์ในการเขียน หลังจากที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์ มีพัฒนาการสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 100
2. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยอนุบาลชั้นปีที่ 1/1 โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร หลังจากที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์มีพัฒนาการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01