รายงานผลการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่โดยใช้กิจกรรมกลางแจ้งการละเล่นเด็ก
ชื่อผู้ศึกษา นางอำภา มะโนธรรม
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ระหว่าง การกิจกรรมกลางแจ้งการละเล่นเด็กไทย และเพื่อเปรียบเทียบผลพัฒนาการกล้ามเนื้อใหญ่ ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมกลางแจ้งการละเล่นของเด็กไทย ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านห้วยเดื่อ อำเภอเมืองสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านห้วยเดื่อ อำเภอเมือง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 7 คน มีวิธี การดำเนิน การศึกษาโดยใช้รูปแบบการทดลองกับประชากรกลุ่มเดียว (One Group Pretest-Posttest Design) คือ ดำเนินการประเมินพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ โดยใช้ แบบสังเกตพฤติกรรมการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ 4 ด้าน ได้แก่ การรับบอลด้วยมือทั้งสอง, การเดินขึ้นลงบันไดสลับเท้าได้, การกระโดดขาเดียวอยู่กับที่ได้, การวิ่งและหยุดได้คล่อง ดำเนินการจัดกิจกรรมโดยใช้ กิจกรรมกลางแจ้งการละเล่นเด็กไทย จำนวน 27 กิจกรรม จึงทำการประเมินหลังการจัดกิจกรรมด้วย แบบสังเกตพฤติกรรมการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ชุดเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษา ได้แก่ ( 1 ) คู่มือการจัดกิจกรรมกลางแจ้งการละเล่นของเด็กไทยเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ จำนวน 27 กิจกรรม ( 2 ) แผนการจัดกิจกรรมกลางแจ้งการละเล่นของเด็กไทยเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ จำนวน 27 แผน ( 3 ) แบบสังเกตพฤติกรรมการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ศึกษาด้วยค่าเฉลี่ย (µ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) และค่าร้อยละ ผลการศึกษา พบว่า
1. ผลการสังเกตพัฒนาการกล้ามเนื้อใหญ่ระหว่างการจัดกิจกรรมกลางแจ้งการละเล่นของ
เด็กไทย สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 เป็นช่วงสัปดาห์จำนวน 9 สัปดาห์นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพัฒนาการจากคะแนนเต็ม 3 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 9 ตามลำดับ ดังนี้ 1.55, 2.07, 2.29, 2.38, 2.41, 2.52, 2.57, 2.69และ2.84 มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.11,0.07,0.07,0.04,0.04,0.04,0.02,0.04 และ0.04 ตามลำดับ
2. ผลการเปรียบเทียบการพัฒนาการกล้ามเนื้อใหญ่ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ด้านการรับบอลด้วยมือทั้งสอง,การเดินขึ้นลงบันไดสลับเท้าได้, การกระโดดขาเดียวอยู่กับที่ได้, การวิ่งและหยุดได้คล่อง พบว่า คะแนนหลังการจัดกิจกรรม 2.87, 2.71, 3, 2.86 ตามลำดับ มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.38, 0.49, 0.00, 0.38 สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรม ทุกพฤติกรรม ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ย 1.71, 1.57, 1.71, 1.86 ตามลำดับ มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.49, 0.53, 0.49, 0.38 ส่วนในภาพรวม คะแนนหลังการจัดกิจกรรม 2.86 คะแนนมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.31 ก่อนการจัดกิจกรรม 1.71มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.47 ความก้าวหน้า 1.15 คิดเป็นร้อยละ 40.21