รายงานการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ รายวิชาฟิสิกส์
ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ รายวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้ศึกษา นางสาวรัชนี โพธิ์หล้า ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานศึกษา โรงเรียนยางวิทยาคม อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มัธยมศึกษา เขต 26
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2559
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) หาประสิทธิภาพชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ รายวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามเกณฑ์ 80/80 (2) หาดัชนีประสิทธิผลของชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ รายวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ รายวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (4) เพื่อศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ รายวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ (5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ รายวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนโรงเรียนยางวิทยาคม ปีการศึกษา 2559 จำนวน 23 คน ที่สุ่มอย่างง่าย เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล คือ (1) ชุดการเรียนรู้ 8 ชุด เวลาเรียน 12 ชั่วโมง(2) แบบทดสอบย่อยชุดละ 10 ข้อ และแบบทดสอบประจำหน่วย 30 ข้อ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจ 15 ข้อ และ (4) แผนการจัดการเรียนรู้ 20 แผน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t–test ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
1. ชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.70/83.48 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. ชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ มีดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 74.21 ตรงตามเกณฑ์ 70
หรืออยู่ในระดับดี แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 74.21
3. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมเฉลี่ยและทั้ง 8 ชุด หลังเรียนด้วยชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ สูงกว่าก่อนการเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่ โดยมีคะแนนหลังเรียน 2 สัปดาห์ และนักเรียนได้คะแนนลดลงเพียงร้อยละ 0.43
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้
เรื่อง การเคลื่อนที่ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก