การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้ เ
เรื่อง การต่อวงจรไฟฟ้ากระแสตรง
ผู้วิจัย : นายชัยยุทธ ศศิธร
โรงเรียน : โรงเรียนกระแชงวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่พิมพ์ : 2557
ศัพท์สำคัญ : ชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
ทางวิทยาศาสตร์ (5Es)
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เรื่องการต่อวงจรไฟฟ้ากระแสตรง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้และใบงานประกอบชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้ตามเกณฑ์ 75/75 และประเมินผลการใช้ชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้ ด้วยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลัง เพื่อวัดทักษะการต่อวงจรไฟฟ้ากระแสตรง และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้ชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้ ชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น 3 ชุด ใช้เวลา 20 คาบ ได้แก่ วงจรไฟฟ้าแบบอนุกรม วงจรไฟฟ้าแบบขนาน และวงจรไฟฟ้าแบบผสม โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (5Es) โดยเป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียว สอบก่อนเรียนและหลังเรียน
ผลการวิจัย พบว่า ชุดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้ตามวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เรื่องการต่อวงจรไฟฟ้ากระแสตรง มีความเหมาะสมกับกลุ่มประชากรตัวอย่าง และมีประสิทธิภาพตามสูตร E1/E2 เป็น 85.08/79.35 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (75/75) จากการทดสอบก่อนเรียน สามารถแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคะแนนสูง กลุ่มคะแนนปานกลาง และกลุ่มคะแนนต่ำ เมื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้วยการทดสอบค่าทีแบบกลุ่มตัวอย่างไม่อิสระต่อกัน (t-test dependent) พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยของนักเรียนกลุ่มคะแนนสูง กลุ่มคะแนนปานกลาง และกลุ่มคะแนนต่ำ หลังเรียน 31.74 (SD = 2.55) สูงกว่าก่อนเรียน 12.26 (SD = 2.49) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คะแนนความก้าวหน้าเฉลี่ยทั้งสามกลุ่มมีค่า 0.70 อยู่ในระดับสูง ด้านทักษะการต่อวงจรไฟฟ้ากระแสตรงของนักเรียน พบว่า นักเรียนทุกคนผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และจากการวิเคราะห์แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เรียนต่อการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ อยู่ในระดับ มาก ค่าเฉลี่ย 4.38 จากเต็ม 5.00 (SD = 0.56)