การศึกษาสภาพการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาสังก
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 2) ศึกษาแนวทางการยกระดับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดสหวิทยาเขต 1 สุรวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 จำนวน 11 คน หัวหน้างานประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สังกัดสหวิทยาเขต 1 สุรวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 จำนวน 11 คน และครูผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สังกัดสหวิทยาเขต 1 สุรวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 จำนวน 88 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสำรวจสภาพการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 แบบสอบถามชนิดปลายเปิด (Open-ended Form) และแบบบันทึกการระดมความคิด (Brainstorming)
ผลการศึกษาปรากฏว่า
1. สภาพการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโดยภาพรวม ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ทั้ง 4 ด้าน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.92 อยู่ในระดับมาก
2. สภาพการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ด้านความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.95 อยู่ในระดับมาก
3. สภาพการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาด้านการเตรียมการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.88 อยู่ในระดับมาก
4. สภาพการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาด้านการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.94 อยู่ในระดับมาก
5. สภาพการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาด้านการมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.86 อยู่ในระดับมาก
สรุปผลการระดมความคิดเห็น
1. การกำหนดแนวทางการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้น ควรวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมาตรฐานการศึกษาของชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
2. การกำหนดเป้าหมายความสำเร็จของมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้ ให้จัดทำบนพื้นฐานของ ความเข้าใจและความเป็นจริงของสถานศึกษา เพื่อที่จะดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จตามค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
3. การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปี ให้มีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้เทคนิค SWOT และให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเคร่งครัด
4. การยกระดับการจัดระบบการบริหารและสารสนเทศของสถานศึกษา ให้มีการประกาศ ใช้มาตรฐานการปฏิบัติงาน มาตรฐานสารสนเทศสถานศึกษา รวมทั้งมีการประเมินผลเพื่อพัฒนา
5. แนวทางการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา ควรศึกษาเครื่องมือการประเมินคุณภาพ และดำเนินการประเมินตามสภาพจริงอย่างมีคุณภาพทั้งโดยตนเองและโดยผู้อื่น
6. แนวทางการยกระดับการเขียนรายงานประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา เนื่องจากการเขียนรายงาน เป็นการแสดงผลการดำเนินการประกันคุณภาพของสถานศึกษา ที่ดำเนินการมาทั้งหมดและต้องการที่จะนำเสนอเพื่อเตรียมรับการประเมินภายนอก จึงให้มีการตรวจสอบการเขียนรายงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน
7. แนวคิดอื่นเพื่อยกระดับการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา สรุปได้ว่าความรู้ความเข้าใจในระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของบุคลากรในสังกัด เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ