บทคัดย่อ การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภา
ชื่อผู้ประเมิน นางพิกุล อนันตนานนท์
สายงาน การบริหารสถานศึกษา
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียน ในองค์ประกอบ ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ การประเมินโครงการครั้งนี้ ผู้ประเมินใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงประเมินโดยอาศัยแนวคิดของซิปป์ (CIPP Model) เป็นกรอบแนวคิดในการประเมิน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 214 คน ครู จำนวน 56 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 214 คน รวม 484 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 6 ฉบับ แบบทดสอบ 1 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ 3 ฉบับ และแบบบันทึก 4 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินพบว่า
ผลการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ผลการประเมินโดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ด้านบริบท
ผลการประเมินความเหมาะสมด้านบริบทของโครงการ โดยครู พบว่า การประเมินในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และความเหมาะสมของความต้องการจำเป็นของผู้เกี่ยวข้อง
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น
ผลการประเมินความเหมาะสมด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ โดยครูและนักเรียน พบว่า การประเมินในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ระดับความเหมาะสมของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน ระดับความเหมาะสมของวัสดุอุปกรณ์ ระดับความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการ
3. ด้านกระบวนการ
ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ กิจกรรมการนิเทศติดตามโครงการ กิจกรรมการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และกิจกรรมส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ ตามลำดับ
4. ด้านผลผลิต
ผลการประเมินด้านผลผลิตของการดำเนินงานโครงการ พบว่า โดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ตัวชี้วัด แหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนา คิดเป็นร้อยละ 100 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านหน่วยงานที่ใช้แหล่งเรียนรู้ คิดเป็นร้อยละ 100 อยู่ในระดับมากที่สุด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนด้านความรู้ศิลปวัฒนธรรม คิดเป็นร้อยละ 93.60 อยู่ในระดับมากที่สุด แหล่งเรียนรู้ที่ได้สร้างขึ้นใหม่ คิดเป็นร้อยละ 90 อยู่ในระดับมากที่สุด นักเรียนที่ใช้แหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง คิดเป็นร้อยละ 89.53 อยู่ในระดับมากสำหรับผลการประเมินตัวชี้วัดความพึงพอใจ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน ซึ่งมีผลการประเมินตัวชี้วัดย่อย สรุปได้ ดังนี้
4.1 ความพึงพอใจของครู พบว่า โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายการ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ครูทุกคนได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อคนต่อปี รองลงมา คือ การมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ส่วนรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และดูแลผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 ความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายการ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ การใช้ห้องปฏิบัติตามสาขาวิชา รองลงมา คือ การใช้สื่อการสอนที่นักเรียนจัดทำขึ้นเอง ส่วนรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนได้มีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน พบว่า โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายการ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ แหล่งเรียนรู้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน รองลงมา คือ บุตร/หลานของท่านมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ท่านมีส่วนร่วมจัดทำแหล่งเรียนรู้ ร่วมกับครูและนักเรียน ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
จากการศึกษา การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ในด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของการดำเนินงานโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงควรดำเนินการและนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนา ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1.1 ผู้บริหาร ควรนำข้อมูลสารสนเทศที่ได้จากการประเมินโครงการในครั้งนี้ไปกำหนดวัตถุประสงค์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริบทของสถานศึกษาให้มากขึ้นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
1.2 ผู้บริหาร ควรส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความสามารถทักษะเฉพาะด้านเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
1.3 ผู้บริหารควรส่งเสริมให้ครู นักเรียนพัฒนาการใช้แหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและเกิดประสิทธิภาพ
2. ข้อเสนอแนะในการทำการประเมินครั้งต่อไป
2.1 ควรทำการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนวิทยาลัยนาฏศิลป อย่างต่อเนื่อง
2.2 ควรศึกษา ความต้องการของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการดำเนินงานตามโครงการ เพื่อจะได้ทราบความต้องการในการดำเนินงานของบุคลาการที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้องและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น
2.3 ควรใช้รูปแบบการประเมินแบบอื่นๆ นอกเหนือจากซิปป์ (CIPP Model) เช่น การประเมินแบบมีส่วนร่วม Mixed model เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่หลากหลาย มีคุณค่าในมิติอื่นๆ ที่จะใช้ในการพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป