การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการใช้การสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน
ชื่อผู้วิจัย นายวิชัย บำรุงศรี
ปีที่ศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้การสอนแบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมครูสู่ผู้เรียน โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้การสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน บูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมครูสู่ผู้เรียนโรงเรียนวัดผาสุก มณีจักร 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้การสอบ แบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมครูสู่ผู้เรียนโรงเรียนวัดผาสุก มณีจักร กลุ่มเป้าหมายเป็นครูโรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร จำนวน 35 คน และนักเรียนโรงเรียน วัดผาสุกมณีจักร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 175 คน ใช้วิธีการเปิดตารางเครซี่และมอร์แกน (Krejcie &. Morgan) เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย รูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้การสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน บูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมครูสู่ผู้เรียนโรงเรียน วัดผาสุกมณีจักร แบบประเมินการบริหารงานวิชาการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบบประเมินทักษะการนำการสอนแบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการเรียนการสอน แบบประเมินการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน แบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้ การสอนแบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริม ครูสู่ผู้เรียน แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการสอนแบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ t – test (dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนางานวิชาการโรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร บุคลากรที่รับผิดชอบการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้พบว่า มีปัญหาการขาดแคลนครูที่มีความรู้ตรงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การขาดทักษะใน การจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ในการจัดการเรียนพบว่านักเรียน ไม่ชอบทำการบ้าน ละเลยการทำการบ้าน ทำการบ้านไม่ได้ ทำการบ้านไม่ถูกต้อง ผลให้นักเรียน หลบหน้าครูผู้สอนทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพลดลง ในการทำการบ้านเมื่อตอนเรียนในห้องเรียนพบว่าสามารถแก้โจทย์ปัญหาต่างๆได้ แต่พอกลับไปถึงบ้านพบว่าโจทย์มีการพลิกแพลงทำให้ตีความหมายโจทย์ไม่ถูกต้อง นักเรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ นักเรียนอยากให้คุณครูเข้าใจพวกเขามากขึ้น ไม่ดุและไม่ทำโทษพวกเขา อยากให้ครูมีเทคนิคการสอนที่สนุก ปัญหาการขาดสื่อนวัตกรรมการศึกษาที่มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย ปัญหาคุณครูติดธุระทำให้ขาดสอน ครูมีงานล้นมือทั้งงานสอน งานเอกสารและงานทะเบียน งานวันสำคัญต่างๆ ควรเร่งพัฒนาการจัดการเรียนรู้ 2) จากการวิเคราะห์แนวแก้ปัญหา นำมาพัฒนาเป็น รูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้การสอนแบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมครูสู่ผู้เรียน โดยใช้รูปแบบ (PDSA Model) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน 1) การวางแผน (Planning : P) 2) การพัฒนาความรู้ (Development : D) 3) การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา (Sufficiency Economy : S) 4) การพัฒนางานวิชาการ (Academic Development : A) การพัฒนางานวิชาการ 12 ขอบข่ายบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากการทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้การสอนแบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมครูสู่ผู้เรียน พบว่า 1) การประเมินการบริหารงานวิชาการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาพรวมอยู่ในระดับมาก 2) ประเมินการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการเรียนการสอน ภาพรวมอยู่ในระดับมาก 3) ประเมินการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพรวมอยู่ในระดับมาก 4) สอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยใช้การสอนแบบห้องเรียนกลับด้านบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมครูสู่ผู้เรียน ภาพรวมอยู่ในระดับมาก 5) สอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาพรวมอยู่ในระดับมาก