ผลการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคว
และความพึงพอใจในการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์)
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา เทศบาลเมืองหนองคาย
ผู้วิจัย นางศิริพร สิงห์ไกรหาญ
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) แบบผสมผสาน เรื่อง เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์งานประดิษฐ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) เรื่อง เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์งานประดิษฐ์
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังจากการที่นักเรียนได้รับการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) แบบผสมผสานที่พัฒนาขึ้น (4) ศึกษาระดับความพึงพอใจในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) แบบผสมผสานของนักเรียนที่ได้รับการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์)แบบผสมผสานที่พัฒนาขึ้น
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา เทศบาลเมืองหนองคาย โดยปีการศึกษา 2559
มีนักเรียนจำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น
3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน
2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติการสอนของครู ได้แก่ แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะทำการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และแบบทดสอบย่อยหลังจากเรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานแต่ละเรื่อง 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียน
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการวิจัยทั้งหมด 3 วงจร ดังนี้ วงจรปฏิบัติการที่ 1 ประกอบไปด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 2–5 วงจรปฏิบัติการที่ 2 ประกอบไปด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 6–9 และวงจรปฏิบัติการที่ 3 ประกอบไปด้วย แผนการเรียนรู้ที่ 10–13 และเมื่อสิ้นสุดในแต่ละวงจรผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสะท้อนผลการปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนและบทเรียนกิจกรรมกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
(งานประดิษฐ์) ในวงจรปฏิบัติการต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างโดยการทดสอบที (t–test) คำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS for Windows ผลการวิจัยพบว่า
1. กิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์)
เรื่อง เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์งานประดิษฐ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.87/90.07 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. กิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์)
เรื่อง เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์งานประดิษฐ์ ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7116 แสดงว่า กิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 71.16
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้การสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) แบบผสมผสานมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนที่ได้รับการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) แบบผสมผสานในปีการศึกษา 2559 มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด