เผยแพร่ผลงาน การคูณแสนสนุกสุขหรรษา
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นางผาณิตา สุวรรณหงษ์
ปีที่ศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) สร้างและพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุกสุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุกสุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และ (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุกสุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี ที่กำลังศึกษาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 32 คน ที่ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม ซึ่งนักเรียนทุกห้องมีความสามารถไม่แตกต่างกัน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ (1) แผนการจัดการเรียนรู้ (2) แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุกสุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ (4) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุก สุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ
t – test for Dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุกสุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้ โดยได้เกณฑ์ประสิทธิภาพเท่ากับ 84.03 /85.17
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุกสุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณแสนสนุกสุขหรรษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด