การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา
ชื่อผลงาน : การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา
แบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย
ชื่อผู้วิจัย : ว่าที่ ร.ต. เมธาศิน สมอุ่มจารย์
ปีที่รายงาน : 2560
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (R&D) เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย 2) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย และ 4) เพื่อนำผลการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลหนองคาย
การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ศึกษาผลการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย หลังพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน 2) ศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย โดยสัมภาษณ์ผู้อำนวยการและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน ถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย 3) พัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย โดยนำผลการสัมภาษณ์ขั้นตอนที่ 1 และรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการต่างๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาเสนอแนะแนวทางการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ให้เป็นหน่วยงานที่บรรลุตามเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และ 4) นำผลการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลหนองคาย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินความพึงพอใจ คำสั่ง บันทึกข้อความ และรายงานติดตามประเมินผลโครงการ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
จากผลการดำเนินการวิจัยพบว่า 1) ผลการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ปีการศึกษา 2557 ได้รับการประเมินในระดับ 4 ดาว 2) สภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย เกิดจาก องค์คณะบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร กระบวนการ และสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลผลิตไม่บรรลุตามเป้าหมาย คือ ไม่มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้วออกมาประกอบกิจการของตนเอง 3) การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ดำเนินการโดยคัดเลือกองค์คณะบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการจาก 2 ภาคส่วน ทั้งบุคคลภายใน และภายนอกสถานศึกษาเข้าเป็นกรรมการบริหาร ดำเนินงานภายใต้การบริหารงานเชิงระบบประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์กร การลงมือปฏิบัติ การควบคุม และการปรับปรุง เพื่อให้ได้ผลผลิตคือ 3.1) การได้รับโอกาสในองค์ความรู้และทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่จำเป็น 3.2) มีจำนวนการเป็นผู้ประกอบการใหม่ เมื่อจบการศึกษาภายใน 1 ปี โดยมีสถานที่ประกอบการจริง หรือเป็นผู้ที่จดทะเบียนการค้า 3.3) การมีทัศนคติที่ดีในการเป็นผู้ประกอบการของนักเรียน นักศึกษา หลังจากมีการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานแล้ว พบว่า ปีการศึกษา 2558 ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ได้รับผลการประเมินระดับ 5 ดาว คะแนนประเมินเท่ากับ 93.42 ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวประสบความสำเร็จมากกว่า ปีการศึกษา 2557 ซึ่งได้รับการประเมินในระดับ 4 ดาว และผลผลิตจากโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย นั้น พบว่า มีนักเรียนนักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาประกอบกิจการของตนเอง 2 ราย และต่อยอดธุรกิจของครอบครัว 3 ราย และ 4) การประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลหนองคาย ได้เสนอแนะให้มีการจัดองค์กรที่มีโครงสร้างองค์กร ขอบข่ายงาน และหน้าที่การบริหารงานที่ชัดเจน ดำเนินงานตามระบบบริหาร คือ การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การลงมือปฏิบัติ (Doing) การตรวจสอบ (Checking) และการปรับปรุง (Acting) รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและผลผลิตขั้นต่ำเป็นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา