ผลการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องแสงและพลังงานแสง
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi experimental design) ชนิด One group pretest-posttest design เพื่อพัฒนาชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องแสงและพลังงานแสงโดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านสะเตง)โดยวิธีการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ประชากรที่ศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านสะเตง) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จำนวน 36 คน ซึ่งใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ดำเนินการวิจัย โดยการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้เป็นเวลา12 สัปดาห์ๆ ละ 2 ชั่วโมง รวมเป็น 24 ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยการทดสอบก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ ด้วยแบบทดสอบฉบับเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องแสงและพลังงานแสงโดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านสะเตง) 2)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง แสงและพลังงานแสง 3) แบบประเมินจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียน และ4)แบบประเมินความพึงพอใจในการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องแสงและพลังงานแสงโดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 80/80 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง แสงและพลังงานแสง ภายหลังการจัดการเรียนรู้ เพิ่มขึ้นสูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้
3. จิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ภายหลังการจัดการเรียนรู้ อยู่ในระดับมาก
4. ความพึงพอใจในการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ โดยรวม อยู่ในระดับมาก