รายงานการพัฒนาและผลการใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศ
เรื่อง รายงานการพัฒนาและผลการใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้ศึกษา จันทร์เพ็ญ คุ้มพร้อม
ปีการศึกษา 2556
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน ระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน และ 4) ศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ของนักเรียน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง สำนักงานเขตลาดกระบัง สังกัดกรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง สำนักงานเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 38 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เนื่องจากโรงเรียนมีนโยบายจัดห้องเรียนแบบคละความสามารถของนักเรียน โดยในแต่ละห้องเรียนจะประกอบด้วย นักเรียนเก่ง ปานกลางและอ่อน อยู่ในห้องเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน จำนวน 8 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ 0.40-0.67 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.27-0.47 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน ลักษณะเป็นมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 3.08-4.75 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติทดสอบที
ผลการวิจัยพบว่า
1. แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.67/82.67 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 แสดงว่าแบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน มีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน มีค่าเฉลี่ย 4.30 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.75 และโดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
4. ความคงทนในการเรียนรู้จากการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการบวก การลบ การคูณ การหารเศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน และคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ไม่ต่างกัน แสดงว่านักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้