การพัฒนาชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากว
ชื่อผู้วิจัย : นางกรวิภา สิงห์เหิน
หน่วยงาน : โรงเรียนหนองทุ่มศรีสำราญวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่วิจัย : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น วิชาการงานอาชีพ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น ศึกษาทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียนระหว่างการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น และศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น วิชาการงานอาชีพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนหนองทุ่มศรีสำราญวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนหนองทุ่มศรีสำราญวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม ระยะเวลาทำการวิจัยตั้งแต่วันที่ 1 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2560 ถึง วันที่ 6 เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 รวมเวลา 12 ชั่วโมง จำนวน 6 สัปดาห์ ใช้เวลาในการศึกษา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 6 แผน 2) ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น จำนวน 6 ชุด 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ จำนวน 40 ข้อ เป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก 4) แบบทดสอบย่อยแต่ละชุดฝึกทักษะปฏิบัติ ชุดละ 10 ข้อ เป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก 5) แบบประเมินทักษะการปฏิบัติงาน 5 ด้าน ได้แก่ การวางแผนการปฏิบัติงาน ความมีวินัยและมุ่งมั่นในการทำงาน การทำงานเสร็จตรงเวลา ความสมบูรณ์ของงาน ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น วิชาการงานอาชีพ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบคะแนนทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยการทดสอบค่าที (t-test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น วิชาการงานอาชีพ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ 83.06/82.50 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น วิชาการงานอาชีพ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ผลการศึกษาทักษะการปฏิบัติงานวิชาการงานอาชีพ โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น นักเรียนมีทักษะการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดีมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 21.71 คิดเป็นร้อยละ 90.47 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.87
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง การประดิษฐ์ของใช้ของตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่น วิชาการงานอาชีพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.65 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.52
ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนวิชาการงานอาชีพ ในการพัฒนาการเรียนรู้ โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป