การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิชาการ
ผู้วิจัย นายประจักษ์ บรรยง
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนบ้านคูขาด (สถิตย์อุปถัมภ์) โดยใช้
กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการเเบบมีส่วนร่วมกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ครูโรงเรียนบ้านคูขาด (สถิตย์อุปถัมภ์) จำนวน 6 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 12 คน และผู้วิจัยจำนวน 1 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสอบถามสภาพการปฏิบัติและความต้องการพัฒนา แบบสังเกตพฤติกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ แบบบันทึกการศึกษาดูงาน แบบสังเกตการจัดการเรียนรู้ของครูผู้ร่วมวิจัย แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะจัดการเรียนรู้ของครูผู้ร่วมวิจัย แบบนิเทศการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม มีการตรวจสอบข้อมูลด้วยเทคนิควิธีการแบบสามเส้า (Trioangulation Technique) โดยนำเสนอผลการวิจัยในรูปแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) ส่วนข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามนำมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยเเละค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า ผลจากการดำเนินการพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนบ้านคูขาด (สถิตย์อุปถัมภ์)
โดยใช้กระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงานการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเลือกใช้สื่อการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนและการนิเทศการสอนแบบมีส่วนร่วม สรุปได้ว่ากระบวนการพัฒนางานวิชาการแบบมีส่วนร่วมในวงรอบที่ 1 สามารถพัฒนาครูผู้ร่วมวิจัยประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำเเผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญสามารถเลือกใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ได้และการนิเทศการสอนแบบมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้ดีระดับหนึ่ง เเต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากครูผู้ร่วมวิจัยยังมีความรู้ความเข้าใจและการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ไม่ดีเท่าที่ควร การเลือกใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ยังไม่หลากหลาย ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยได้ประชุมปรึกษาหารือและมีมติให้ดำเนินการพัฒนาครูผู้ร่วมวิจัยด้วยกระบวนการพัฒนาวิชาการแบบมีส่วนร่วมในวงรอบที่ 2 โดยได้นำข้อเสนอแนะในวงรอบที่ 1 มาปรับปรุงพัฒนาโดยร่วมกันประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนบ้านคูขาด (สถิตย์อุปถัมภ์) เพื่อเพิ่มเติมความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเลือกใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้และการนิเทศการสอนแบบมีส่วนร่วม ครูผู้ร่วมวิจัยประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 แต่ละคนจัดทำเเผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเเละจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า ครูผู้ร่วมวิจัยประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สามารถจัดทำแผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนเกิดทักษะ สามารถนิเทศการสอนแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างกันและสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกคน ครูผู้ร่วมวิจัยทำงานอย่างมีความสุขเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ซึ่งจะส่งผลให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนต่อไป