เผยแพร่ผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ
ในสถานศึกษาโดยใช้การประเมินเชิงระบบตามรูปแบบ CIPPIEST Model
ของโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์
ผู้ประเมิน : นางสาววนิดา ตันสุวรรณรัตน์
สถานศึกษา : โรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ สังกัดเทศบาลตำบลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ปีที่ทำการวิจัย : 2558 - 2559
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการดำเนินการ ความต้องการจำเป็นในการบริหารจัดการตามจุดประสงค์ของโครงการการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ สังกัดเทศบาลตำบลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ปีการศึกษา 2558 โดยใช้การประเมินเชิงระบบตามรูปแบบ CIPPIEST Model ใน 8 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบริบท 2) ด้านปัจจัยนำเข้า 3) ด้านกระบวนการ 4) ด้านผลผลิต 5) ด้านผลกระทบ 6) ด้านประสิทธิผล 7) ด้านความยั่งยืน และ 8) ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังประเมินโครงการเรื่องการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ การประเมินแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การประเมินก่อนดำเนินโครงการฯมีการเก็บข้อมูล 2 ขั้นตอน 1) เป็นการประเมินความต้องการจำเป็น (PNImodified) ทั้ง 8 ด้าน โดยสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ของการดำเนินโครงการฯ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ รองผู้อำนวยการ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง จำนวน 212 คน เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม ฉบับที่ 1 2) ประเมินด้านบริบท (Context) และด้านปัจจัยนำเข้า (Input) เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์คณะกรรมการดำเนินโครงการจำนวน 40 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ ฉบับที่ 1 และ 3) ทดสอบความรู้และวัดเจตคติของนักเรียนก่อนเริ่มโครงการ ระยะที่ 2 การประเมินระหว่างดำเนินการ ด้านกระบวนการ (Process) โดยสอบถามคณะกรรมการดำเนินโครงการ จำนวน 40 คน เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม ฉบับที่ 2 และระยะที่ 3 การประเมินผลหลังการดำเนินงานโครงการฯสิ้นสุด มีการเก็บรวบรวมข้อมูล 5 ขั้นตอน 1) โดยการสอบถามความคิดเห็นทั้ง 8 ด้าน ของคณะกรรมการดำเนินโครงการ 40 คน ใช้แบบสอบถาม ฉบับที่ 3 2) การประเมินด้านผลผลิต (Product) ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และ ด้านการถ่ายทอดส่งต่อโดยสอบถามผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 203 คน ใช้แบบสอบถาม ฉบับที่ 4 และสอบถามความคิดเห็นทั้ง 5 ด้านจากนักเรียนจำนวน 199 คน โดยใช้แบบสอบถาม ฉบับที่ 4 3) สัมภาษณ์ความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 37 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ ฉบับที่ 2 4) สังเกตพฤติกรรมตามกิจกรรมการดำเนินโครงการ ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ นักเรียน จำนวน 160 คน เพื่อประเมินผลการจัดกิจกรรมโครงการฯ และ 5) การประเมินความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการฯ ตามความคิดเห็น คณะกรรมการดำเนินโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และ นักเรียน จำนวน 271 คน ใช้แบบวัดความพึงพอใจ กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตาราง เครจซีและมอร์แกน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถาม 7 ฉบับ มีค่าความสอดคล้อง (IOC) ระหว่าง 0.86-1.00 ค่าอำนาจจำแนก ระหว่าง .39-.95 และค่าความเชื่อมั่นระหว่าง .81-.93 แบบสัมภาษณ์ 2 ฉบับ แบบสังเกต 1 ฉบับค่าความสอดคล้อง (IOC) ระหว่าง .86-1.00 และแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 1 ฉบับ ค่าความสอดคล้อง (IOC) ระหว่าง 0.86 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง .30-.87 และค่าความเชื่อมั่น .86 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสูตรคำนวณความต้องการจำเป็น PNImodified
ผลการประเมินปรากฏดังนี้
ผลการวิเคราะห์ระยะที่ 1 การประเมินก่อนดำเนินโครงการฯ ได้แก่
1. ผลการประเมินความคิดเห็นของ คณะกรรมการดำเนินโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองต่อสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการดำเนินโครงการฯ พบว่า มีความคิดเห็นต่อสภาพปัจจุบันของโครงการฯ ทั้ง 8 ด้าน ในภาพรวมมีความคิดเห็นระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ด้านผลกระทบมีความคิดเห็นในระดับมาก นอกนั้นมีความคิดเห็นในระดับปานกลางทุกด้าน ส่วนค่าความความคิดเห็นต่อสภาพที่พึงประสงค์ของโครงการฯ โดยรวมมีความคิดเห็นระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน มีความคิดเห็นระดับมากที่สุด ยกเว้นด้านบริบท มีความคิดเห็นระดับมาก
2. ผลการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น (Need Assessment) โดยนำข้อมูลผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ในข้อ 1. มาหาค่าดัชนีความต้องการจำเป็น PNImodified (Priority Needs Index) เพื่อจัดลำดับความต้องการจำเป็น ของโครงการฯ ทั้ง 8 ด้าน เรียงลำดับความต้องการจำเป็นจากมากไปหาน้อย ได้แก่ (1) ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (2) ด้านความยั่งยืน (3) ด้านประสิทธิผล (4) ด้านผลผลิต (5) ด้านกระบวนการ (6) ด้านผลกระทบ (7) ด้านปัจจัยนำเข้า และลำดับสุดท้ายได้แก่ (8) ด้านบริบท
3. ผลการสัมภาษณ์ด้านบริบทและด้านปัจจัยนำเข้า โดยคณะกรรมการดำเนินโครงการ ด้านบริบท สรุป 2 ประเด็นแรก คือ ควรมีการกำหนดบทบาทหน้าที่แบ่งงานไว้ชัดเจน และทำอย่างเป็นระบบ และนักเรียนส่วนใหญ่มีจิตสำนึกในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีความกระตือรือร้นและมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ผลการวิเคราะห์ระยะที่ 2 การประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการฯตามความคิดเห็นของ คณะกรรมการดำเนินโครงการด้านกระบวนการ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ มีความคิดเห็นในระดับมากถึงมากที่สุด เรียงลำดับค่าเฉลี่ยความคิดเห็นจากมากไปหาน้อย 2 ข้อ คือ นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสเรียนรู้จากการทำงานกลุ่มและการฝึกปฏิบัติจริง และโรงเรียนดำเนินกิจกรรมโครงการฯโดยเน้นความสำคัญในการร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมพัฒนาของผู้ปกครองและชุมชน
ผลการวิเคราะห์ระยะที่ 3 การประเมินผลหลังการดำเนินงานโครงการฯ ได้แก่
3.1 ผลการประเมินความคิดเห็นของคณะกรรมการดำเนินโครงการ ทั้ง 8 ด้าน พบว่า ความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน มีความคิดเห็นในระดับมากจำนวน 1 ด้าน ได้แก่ ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ส่วนด้านอื่นมีความคิดเห็นในระดับมากที่สุดทุกด้าน
3.2 ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา หลังการดำเนินงานโครงการการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ ทั้งโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุด
3.3 ผลการประเมินความคิดเห็นของนักเรียน หลังการดำเนินโครงการการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ ทั้งโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุด
3.4 ผลการสังเกตการปฏิบัติตามการดำเนินงานโครงการฯ ของผู้ประเมิน และครูประจำชั้น ทั้งโดยรวมและรายด้านมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด
3.5 ผลการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ปกครอง และ คณะกรรมการสถานศึกษา ด้านการบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานโครงการฯ ได้แก่ ชุมชนวัดโพธิ์บางคล้า ชุมชนดงตาล และชุมชนโจ๊วฉู่ ยินดีร่วมและสนับสนุนโครงการการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ ต่อไป
ส่วนด้านคุณลักษณะของนักเรียนตามโครงการฯ พบว่า นักเรียนเผยแพร่ความรู้การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดสู่ชุมชนทั้ง 3 ชุมชนอย่างเข้มแข็ง
3.6 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการฯ ของผู้บริหาร คณะกรรมการดำเนินโครงการ ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาและนักเรียน โดยรวมมีความพึงพอใจระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อมีความพึงพอใจระดับมากถึงมากที่สุด
3.7 ผลการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง “การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด” โดยรวม ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 79.79 เมื่อจำแนกเป็นชั้นเรียนปรากฏว่า ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีผลการเรียนสูงสุด ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 91.81 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลการเรียนต่ำสุด ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 55.83
3.8 การประเมินเจตคติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ต่อการดำเนินโครงการการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ โดยรวมมีความเห็นด้วยระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ มีความเห็นด้วยระดับมากที่สุด 8 ข้อ และมีความเห็นด้วยระดับมาก 2 ข้อ
3.9 คะแนนทดสอบความรู้หลังประเมินโครงการเรื่องการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 2 วัดโพธิ์ สูงกว่าคะแนนก่อนประเมินโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05