รายงานผลการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้
ผู้วิจัย เยาวเรศ ผิวเหมาะ โรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพปัจุบันและปัญหาด้านทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 (2) สร้างและพัฒนาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามเกณฑ์ 80/80 (3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการอ่านและการเขียน ก่อนและหลังการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ (4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 5 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 268 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/3 โรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 35 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ด้วยการจับฉลาก โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย (1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 3 เล่ม ได้แก่ เล่มที่ 1 เรื่องนิทานเบิกบานใจ เล่มที่ 2 เรื่องท่องเที่ยวไปถิ่นไทยงาม และ เล่มที่ 3 เรื่องสืบสานงานพ่อหลวง (2) แผนการจัดการเรียนรู้ (คู่มือครู) ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 11 แผน เวลา 11 ชั่วโมง (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 30 ข้อ แบบปรนัย มี 3 ตัวเลือก และ (4) แบบประเมินความพึงพอใจ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ และผ่านการทดสอบจนมีประสิทธิภาพก่อนนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การหาประสิทธิภาพ 80/80 (E1/E2) และการทดสอบทีกรณีกลุ่มตัวอย่างมีกลุ่มเดียว (T-Test Dependent)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ผลจากการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาด้านการอ่านและการเขียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า 1) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 2) นักเรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนภาษาไทย ไม่สนใจเรียน สาเหตุหนึ่งมาจากการอ่านหนังสือไม่ออก/ อ่านไม่คล่องและเขียนไม่ถูกต้อง 3) ครูสอนบรรยายมากเกินไป นักเรียนไม่ได้ฝึกทักษะการปฏิบัติ จากการทำงานกลุ่มร่วมกัน ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน 4) ครูไม่ใช้สื่อการเรียนการสอน แต่ใช้หนังสือเสริมของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เป็นกรอบในการจัดการเรียนการสอน 5) ครูใช้วิธีการวัดผลด้วยแบบทดสอบเพียงอย่างเดียวเพื่อนำมาตัดสินการเรียนไม่เน้นทักษะกระบวนการหรือชิ้นงานของนักเรียน 6) ความสามารถด้านทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากผลการทดสอบวัดความรู้ ปีการศึกษา 2558 พบว่า การอ่านออกเขียนได้อยู่ในระดับดี ร้อยละ 50.12 ระดับปานกลาง 40.50 และอ่านไม่ออก/ ไม่คล่องเขียนไม่ถูกต้องร้อยละ 9.38 เพราะนโยบายของทางเทศบาลซึ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิชาการ ทำให้ครูทุกคนมุ่งสอนใหจบเพื่อการแข่งขันอย่างเดียว
2. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการอ่านและการเขียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/3 เรื่องนิทานเบิกบานใจ มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 84.00/86.29 เรื่องท่องเที่ยวไปถิ่นไทยงาม มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.71/85.00 และเรื่องสืบสานงานพ่อหลวง มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 84.43/85.86 โดยรวมมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 84.20/85.64 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
3. ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการอ่านและการเขียน โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อฝึกทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยรวมมีความพึงพอใจระดับมากที่สุด ( = 4.51, S.D. = 0.87) เมื่อพิจารณาแต่ละด้าน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจระดับมากที่สุด 4 ข้อ และมีความพึงพอใจในระดับมาก 1 ข้อ และนักเรียนมีความพึงพอใจด้านการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นในระดับมากที่สุด ( = 4.56, S.D. = 0.87)
ดังนั้นชุดกิจกรรมการเรียนรู้ฝึกทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จึงทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นสื่อที่สามารถนำไปจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการอ่านและการเขียน ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ