การพัฒนาแบบฝึกทักษะ เรื่อง อาหารพื้นเมือง รายวิชาคหกรรม
ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะ เรื่อง อาหารพื้นเมือง รายวิชาคหกรรม สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้ศึกษา นางสาวปรัศนีย์ สุวรรณสังข์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานศึกษา โรงเรียนเมืองสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะ หาดัชนีประสิทธิผล เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน
ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะ เรื่อง อาหารพื้นเมือง รายวิชาคหกรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนโรงเรียนเมืองสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 35 คน โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายด้วยการจับสลากรายชื่อห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ (1) แบบฝึกทักษะ 10 เล่ม เวลาเรียน 20 ชั่วโมง
(2) แบบทดสอบย่อย 11 ฉบับ รวม 100 ข้อ มีความเชื่อมั่นตั้งแต่ 0.83-0.86 และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจำนวน 40 ข้อ มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 (3) แบบสอบถามความพึงพอใจ
20 ข้อ มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 และ (4) แผนการจัดการเรียนรู้ 10 แผน (ไม่รวมแผนปฐมนิเทศ) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ
การทดสอบด้วยค่า t (Dependent samples) ปรากฏผลการศึกษา ดังนี้
1. แบบฝึกทักษะ เรื่อง อาหารพื้นเมือง รายวิชาคหกรรม มีประสิทธิภาพรวมเฉลี่ยเท่ากับ 85.94/84.21 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 โดยแต่ละเล่มมีประสิทธิภาพตั้งแต่ 80.84-88.52
2. แบบฝึกทักษะ เรื่อง อาหารพื้นเมือง รายวิชาคหกรรม มีค่าดัชนีประสิทธิผลรวมเฉลี่ยเท่ากับ 0.7403 แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 74.03
3. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์หลังการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ เรื่อง อาหารพื้นเมือง มากกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะ
โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ นักเรียนมีเจตคติทางการเรียนที่ดีจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะ เรื่อง อาหารพื้นเมือง รองลงมา คือ แบบฝึกทักษะ
ช่วยแก้ปัญหาการเรียนไม่ทันเพื่อนได้ดี