รายงานการพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้า
ผู้รายงาน : นายพจนาถ มากรักษ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตลิ่งชัน
ปีที่ประเมิน : ๒๕๕๗
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
โรงเรียนบ้านตลิ่งชัน จัดการศึกษาในระดับชั้นอนุบาล ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะการดำเนินชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งโรงเรียนบ้านตลิ่งชันมีบุคลากรทั้งสิ้น ๓๖ คน มีนักเรียนทั้งสิ้น ๓๖๒ คน มีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๓ ตารางวา มีพื้นที่เขตบริการจำนวน ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ ๒ , หมู่๗ , หมู่๘ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีประชากรในเขตบริการทั้งสิ้นประมาณ ๑,๕๐๐ คน นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๙๙.๓๓ สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนมีลักษณะเป็นทะเลและชายหาดอาชีพหลักของชุมชน คือการทำประมง และรับจ้าง ในพื้นที่รัศมี ๑ กิโลเมตร รอบโรงเรียนประกอบไปด้วยองค์กรภาครัฐ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอจะนะ (ประจำตำบลตลิ่งชัน) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลตลิ่งชัน มีองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท การปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรานส์ ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด องค์กรท้องถิ่น ได้แก่ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๒ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๗ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๘ กลุ่มบุคคลได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มประจำตำบลตลิ่งชัน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มถักอวน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางอาชีพ หลากหลายทางความรู้ ถือเป็นแหล่งรวมความรู้ แหล่งรวมความคิด แหล่งรวมกำลังกาย ที่โรงเรียนสามารถนำมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทางด้านวิชาการ ด้านกีฬา ด้านสภาพภูมิทัศน์ จากเหตุผลดังกล่าว โรงเรียนบ้านตลิ่งชัน จึงได้จัดให้มีการพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านตลิ่งชันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และเพื่อระดมทุนในการพัฒนาโรงเรียน
จากการพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านตลิ่งชัน
โรงเรียนเป็นแหล่งวิทยาการในการแสวงหาความรู้และบริการชุมชน โรงเรียนและชุมชนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาในท้องถิ่น มีการสนับสนุนให้แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตร บุคลากรในโรงเรียนมีความปลอดภัย มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ทั้งยังส่งผลให้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O - NET) ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ สูงขึ้นร้อยละ ๒.๑๖ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา ( I - NET) ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น ( ชั้นอิบติดาอียะฮฺ ) สูงขึ้นร้อยละ ๒.๙๖ ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่มีผลการประเมินระดับ ดี ขึ้นไป สูงขึ้น ร้อยละ ๒.๙๗ นักเรียนทุกคนได้มีความสามัคคีและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้เกิดการเรียนรู้และเดินไปในแนวทางของศาสนาที่ถูกต้อง นักเรียนได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา เกิดขวัญและกำลังใจในการศึกษา นักเรียนมีความรู้ และเกิดจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ร่วมกันใน ผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มีส่วนร่วมในการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมและสนับสนุนในการปลูกฝัง และส่งเสริมคุณธรรม
จริยธรรมของนักเรียน มีความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เกิดทัศนคติและแนวทางที่ตรงกัน มีการพัฒนาการศึกษาของชุมชนร่วมกัน เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน และบุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนมีความพึงพอใจในการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ลงชื่อ ผู้รายงาน
(นายพจนาถ มากรักษ์)
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตลิ่งชัน