การประเมินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพี
ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ
โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษานราธิวาส เขต 3
ชื่อผู้ประเมิน : นายศุภเชษฐ์ กาญจนมณี
หน่วยงาน : โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษานราธิวาส เขต 3
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2556
การประเมินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งประเมิน 4 ด้าน กล่าวคือ 1.เพื่อประเมินบริบทของโครงการ ประเมินเกี่ยวกับความเหมาะสม ความชัดเจน ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายกับกิจกรรม 2.เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ประเมินเกี่ยวกับความเหมาะสมของทรัพยากรการผลิต ด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และพื้นที่ในการดำเนินโครงการ 3.เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการ ประเมินเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกระบวนการบริหาร ด้านการวางแผน การปฏิบัติกิจกรรม การนิเทศติดตามและประเมินผล และกิจกรรมของโครงการ 4.เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับจำนวนนักเรียนที่ได้รับประทานอาหารกลางวัน ภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน ความรู้ความเข้าใจของนักเรียนด้านการเกษตรและโภชนาการ ความพึงพอใจของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการบริหารโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) ของสตัพเฟิลบีม ซึ่งมี 4 ประเด็น คือ ประเด็นด้านบริบท(Context)ด้านปัจจัยนำเข้า(Input)ด้านกระบวนการ(Process) และด้านผลผลิต (Product)
ประชากร คือ ใช้กลุ่มประชากร จำนวน 354 คน จำแนกเป็น ครูผู้สอน จำนวน 20 คน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 5 คน นักเรียน จำนวน 153 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 153 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน คณะกรรมการบริหารโครงการ จำนวน 10 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการในครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฉบับที่ 1 สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการบริหารโครงการ แบบสอบถามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฉบับที่ 2 สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง แบบทดสอบวัดความรู้ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แบบประเมินและสรุปพฤติกรรมการมีมารยาทและสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหารของนักเรียน โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แบบประเมินและสรุปทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แบบบันทึกและสรุปวัตถุดิบในการผลิตอาหารกลางวันที่ได้จากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แบบบันทึกและสรุปจำนวนนักเรียนที่ได้รับประทานอาหารกลางวัน แบบบันทึกและสรุปภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แบบบันทึกคะแนนทดสอบวัดความรู้ของนักเรียน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) และค่าร้อยละ
ผลการประเมินโครงการสามารถสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สรุปได้ดังนี้
1. การประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation) เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการบริหารโครงการ คิดว่ามีความเหมาะสมมาก
2. การประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) ประเมินเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการ ปัจจัยด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ และพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการบริหารโครงการ คิดว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด
3. การประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) ได้แก่ ความเหมาะสมของการวางแผนโครงการ การปฏิบัติงานตามโครงการ การนิเทศติดตามผล การประเมินและรายงานผล และการดำเนินกิจกรรมของโครงการ 4 กิจกรรม ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการบริหารโครงการ เห็นว่ามีความเหมาะสมมาก
4. การประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) ประเมินเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ ของโครงการได้ผล ดังนี้
4.1 การมีส่วนร่วมของภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนอนุบาลระแงะ 14 คน เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการทุกคน คิดเป็น ร้อยละ 100
4.2 จำนวนนักเรียนที่ได้รับประทานอาหารกลางวัน
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 353 คน ได้รับประทานอาหารกลางวัน ที่โรงเรียนจัดทำขึ้นแก่นักเรียนทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100.00
4.3 ผลผลิตที่ได้จากโครงการ ได้แก่ ผลผลิตที่ได้จากกิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงไก่ไข่ และการเลี้ยงปลาดุก ผลผลิตที่ได้จากโครงการที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนตลอดปีการศึกษา 2556 คิดเป็นร้อยละ 65.30
4.4 พัฒนาการของผู้เรียน
4.4.1 ด้านความรู้ในการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุก การประกอบอาหารและแปรรูปอาหาร ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 ร้อยละ 100 มีความรู้อยู่ในระดับดีขึ้นไป และความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4.4.2 ด้านทักษะในการปฏิบัติงานด้านการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุก และการประกอบอาหารและแปรรูปอาหาร ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จำนวน 153 คน ผ่านเกณฑ์การประเมิน คิดเป็นร้อยละ 100
4.4.3 ด้านมารยาทและสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 – 6 จำนวน 153 คน ผ่านเกณฑ์การประเมิน คิดเป็นร้อยละ 100
4.5 ความพึงพอใจของนักเรียน ครูผู้สอน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการบริหารโครงการที่มีต่อโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความ พึงพอใจในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะของการประเมินโครงการ
1. ควรให้คณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตของการประเมิน
2. ควรให้ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบโครงการร่วมกับบุตรหลานของตนเอง
ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาการประเมินโครงการครั้งต่อไป
ควรนำวิธีการประเมินแบบซิปป์ ไปใช้ในการประเมินโครงการอื่นๆ ที่มีแนวทางการดำเนินงานโครงการที่ใกล้เคียงกัน