คุณภาพการศึกษาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร
ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
ผู้วิจัย นายเชาวลิต สีแนน
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองมหาสารคาม
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยใช้วงจรปฏิบัติการของเคมมิสและแม็คแทกการ์ท(Kemmis & McTaggart, 1988) ผู้ที่เข้าร่วมปฏิบัติการวิจัย ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 3 คน ครู จำนวน 50 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน โดยศึกษาที่โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ระยะเวลาระหว่างปีการศึกษา 2558-2559 การเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการวิเคราะห์เอกสาร แนวคิด การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ตาม 6 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1) พัฒนาคุณภาพของผู้เรียน 2) พัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา 3) พัฒนาสถานที่และแหล่งเรียนรู้ 4) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น 5) เตรียมความพร้อมสู่อาเซียน 6) พัฒนาและทักษะชีวิตตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีรูปแบบการพัฒนา คือ การพัฒนาบุคลากรในด้านความชำนาญในทักษะด้านสารสนเทศ การสร้างขวัญและกำลังใจ การพัฒนาโครงสร้างการทำงานที่เหมาะสม การพัฒนาระบบงานด้านการผลิตสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาและการนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ การนิเทศและส่งเสริมให้ครูได้เข้ารับการอบรม การมีส่วนร่วมในด้านเครือข่ายชุมชนและทรัพยากร การเสริมสร้างศักยภาพในด้านการสอนของครู และการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จากรูปแบบที่พัฒนาขึ้นนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร 4 ด้าน คือ ด้านคุณภาพครู ด้านคุณภาพการบริหารจัดการ ด้านคุณภาพนักเรียน และด้านคุณภาพการเรียนการสอน
ประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ทำให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาในด้านความรู้ความสามารถของครู ความรู้ความเข้าใจและพัฒนาการในการปฏิบัติหน้าที่ดีขึ้น มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีการใช้ทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และนักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างหลาก หลายเพิ่มมากขึ้นตามศักยภาพของตนและได้เรียนรู้อย่างมีความสุข และเกิดความรักและมีความผูกพันโรงเรียนมากยิ่งขึ้น