รายงานการประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้และภู
ชื่องานวิจัย : รายงานการประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของโรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน
ผู้รายงาน : นายกรธนวัฒน์ วังแสง รองผู้อำนวยการโรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย
ปีที่รายงาน : ปีการศึกษา 2555
การประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของโรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินด้านบริบทของโครงการ 2) เพื่อประเมินด้านปัจจัยของโครงการ 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการของโครงการ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Mode) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวนทั้งสิ้น 100 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 27 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 30 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 30 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย(Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation)
ผลการประเมินโครงการพบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของโรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน จากการประชุมระดมความคิดเห็น พบว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วยครู มีความคิดเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับสภาพและปัญหา ความจำเป็น และความต้องการในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนแสวงหาความรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมและความเพียงพออยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน