ผลการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา อ.2
ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านอรุโณทัย
ชื่อผู้ศึกษา นางอภิญญา เอื้อกุศลสมบูรณ์
ปีที่ศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาผลการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ระหว่างการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา ทั้งรายรายพฤติกรรมและภาพรวมและเพื่อศึกษาผลการเปรียบเทียบพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา ทั้งรายพฤติกรรมและภาพรวม ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านอรุโณทัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 27 คน ตัวแปรที่ใช้ ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ความคิดสร้างสรรค์มี 3 ด้าน คือ ด้านการคิดคล่อง ด้านการคิดริเริ่มและ ด้านความคิดละเอียดประณีต เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ คู่มือการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จำนวน 27 กิจกรรม แผนการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จำนวน 27 แผนและแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ชั้นอนุบาลปีที่ 2 เก็บรวบรวมข้อมูลก่อน-หลังการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ศิลปะหรรษา ด้วยแบบทดสอบและรวบรวมข้อมูลระหว่างการจัดกิจกรรมด้วยแบบวัดและประเมินผลตามแผนการจัดกิจกรรมวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการจัดกิจกรรมด้วยค่าสถิติเฉลี่ย ( µ ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ.) วิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบพฤติกรรมจากข้อมูล ก่อน-หลังด้วยสถิติร้อยละ
ผลการศึกษา พบว่า
1. ผลการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ระหว่างการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา ช่วง 9 สัปดาห์ จากการวัดและประเมินผลทุกแผน 27 แผน แล้วเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล 9 ช่วงสัปดาห์ ผลปรากฏว่า ความคิดสร้างสรรค์รายพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการคิดคล่อง ด้านการคิดริเริ่ม ละด้านความคิดละเอียดประณีตและในภาพรวม เริ่มสัปดาห์แรก ผลการวัดและประเมินเฉลี่ย ( µ ) อยู่ที่ระดับพอใช้ พอใช้ (1.80, 1.70, 1.75 และ 1.75 ตามลำดับ)เมื่อจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษาจนถึงสัปดาห์ที่ 9 ผลการวัดและประเมินของนักเรียน มีค่าเฉลี่ย ( µ ) อยู่ที่ระดับดี (2.88, 2.84, 2.88และ 2.87 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาพฤติกรรมแต่ละด้านและภาพรวม ปรากฏว่า มีการพัฒนาดีขึ้นทุกช่วงสัปดาห์ และผลรวมโดยเฉลี่ย ( µ ) ของแต่ละพฤติกรรมและภาพรวมมีค่าเฉลี่ย (2.37, 2.32, 2.35 และ 2.35ตามลำดับ) แสดงว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา ของนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีพัฒนาการดีขึ้นทุกช่วงสัปดาห์
2. ผลการเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทำการทดสอบโดยแบบทดวัดสอบความคิดสร้างสรรค์ ผลปรากฏว่า หลังการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา นักเรียนมีคะแนนรายพฤติกรรม และภาพรวม ได้แก่ด้านการคิดคล่อง ด้านการคิดริเริ่ม ละด้านความคิดละเอียดประณีต และภาพรวม (28.30, 28.04, 44.56 และ 33.63 ตามลำดับ) สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา (10.74, 10.78, 17.59 และ13.04 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาถึงผลต่างของคะแนนทั้ง 2 ส่วน ผลปรากฏว่า มีความแตกต่างกันทั้งรายพฤติกรรมและภาพรวม ดังนี้ ด้านความคิดคล่องแคล่ว มีความแตกต่างกัน 17.56 คิดเป็นร้อยละ 50.17 ด้านความคิดริเริ่ม มีความแตกต่างกัน 17.26 คิดเป็นร้อยละ 49.31 ด้านความคิดละเอียดประณีต มีความแตกต่างกัน 26.97 คิดเป็นร้อยละ 77.06 และในภาพรวม มีความแตกต่างกัน 20.60 คิดเป็นร้อยละ 58.85 แสดงว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยการจัดสร้างสรรค์ศิลปะหรรษา ซึ่งเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนหลังสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะหรรษาทุกพฤติกรรมและภาพรวม