บทความงานวิจัย รายงานผลการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11
บทความงานวิจัย
รายงานผลการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
กานต์รวี เกิดสมศรี
ครูชำนาญการโรงเรียนวัดลาดสนุ่น
บทคัดย่อ
การพัฒนาทักษะกาพย์ยานี 11 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ให้มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 ก่อนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการแต่ง กาพย์ยานี 11
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดลาดสนุ่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 ปีการศึกษา 2559 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 43 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 แบบทดสอบ วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือกจำนวน 32 ข้อ และแบบทดสอบแบบอัตนัย จำนวน 2 ข้อ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบฝึกเสริมทักษะการแต่ง กาพย์ยานี 11 จำนวน 6 เล่ม เล่มละ 10 ข้อและแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อแบบฝึกเสริมทักษะ จำนวน 10 ข้อ ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ใน การทดสอบภาคสนามโดยเฉลี่ยมีค่า E1 /E2 เท่ากับ 87.11/89.88 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางเรียน เรื่องการแต่งกาพย์ยานี 11 หลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะสูงกว่าก่อนเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ มีค่าการพัฒนาเท่ากับ 3.87
3. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกเสริมทักษะทั้ง 6 เล่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อแบบฝึกเสริมทักษะการแต่ง กาพย์ยานี 11 อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด
ความสำคัญของปัญหา
ประเทศไทยมีสิ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ ภาษาไทย ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 (2542: 5) ความตอนหนึ่งว่า“ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองจึงต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะต้องสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคงเราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้...” การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับเยาวชนไทย กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้ภาษาไทยเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรทุกระดับชั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2545 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 (1: 2542) กล่าวถึงในมาตรา 7 เรื่องความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพรู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ เอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กล่าวถึงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย (2552: 1) ว่าภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม อันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระ การงาน และดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อแสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณีและสุนทรียภาพ เป็นสมบัติล้ำค่าควรแก่การเรียนรู้ อนุรักษ์ และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (2553: ก) กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทยในอดีตที่สามารถธำรงความเป็นเอกลักษณ์ที่ยาวนาน และภาษาไทยนั้นเอง คือเครื่องมือสำคัญในการธำรงเอกลักษณ์ แห่งความเป็นชาติไทยมาจวบจนปัจจุบัน ภาษาไทยจึงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง คนไทยนั้นมีนิสัยประณีต บรรจงและรักสงบ นักปราชญ์ นักกวีไทยในสมัยก่อนจึงได้สร้างสรรค์อักขระไทยและภาษาไทยมาผสมผสานกัน โดยให้มีความไพเราะและเกิดการวิจิตรทางภาษานั้นก็คือ การแต่ง คำประพันธ์ การสอนภาษาไทยแต่โบราณ เมื่อผู้เรียนเข้าใจหลักการผสมคำแล้ว ครูผู้สอนนิยม ผูกถ้อยคำ เป็นหมวดหมู่ให้นักเรียน จดจำเป็นเรื่องราว ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำสัมผัส คล้องจอง ทำให้ จำได้ง่าย จึงทำผู้เรียนพอใจในจังหวะ ลีลาความคล้องจองและเข้าใจ เนื้อความไปด้วย ทำให้การอ่านนั้นมีความหมายมากขึ้น ซึ่งในสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (2551: 50) มาตรฐาน ท 4.1 ผู้เรียนจะต้องเขาใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้ เป็นสมบัติของชาติ ตามตัวชี้วัดที่ ม 1/5 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคนจะต้องแต่งบทร้อยกรองกาพย์ยานี 11 ได้ ดังนั้นครูภาษาไทยจึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องถ่ายทอดความรู้เรื่องการแต่งกาพย์ยานี 11 ให้นักเรียนมีความรักในวรรณศิลป์เพิ่มขึ้นและชอบที่จะเรียนวิชาภาษาไทยรักวิชาภาษาไทย และรักครูภาษาไทยมากขึ้น แต่ปัญหาการสอนการแต่งกาพย์ยานี 11 นั้น เป็นเรื่องยากและเป็นปัญหาสำคัญสำหรับครูภาษาไทยที่ควรแก้ไข เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการแต่งคำประพันธ์นั้นยากไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือมองว่าตนเองไม่มีความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ จึงทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนการแต่งคำประพันธ์ อาจมีผลมาจากผู้เรียนขาดทักษะการเรียนรู้และความเข้าใจในการแต่งคำประพันธ์ และหากครูผู้สอนไม่เข้าใจเนื้อหาและวิธีถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนจนสามารถแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 ได้ ก็จะทำให้ การเรียนการสอนเรื่องการแต่งกาพย์ยานี 11 ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนด
มีนักการศึกษาได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 หลายท่านและ ได้นำเสนอปัญหาของการแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 เช่น พนมศักดิ์ มนูญปรัชญาภรณ์ (2557: 1) กล่าวถึงความสำคัญของการสอนการแต่งคำประพันธ์ว่า ร้อยกรองนั้นต้องใช้ทักษะในการเขียนสูงกว่าร้อยแก้วอันเนื่องมาจากลักษณะบังคับทางด้านฉันทลักษณ์ ทำให้ผู้เขียนต้องใช้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานการเขียนสูงซึ่งบทร้อยกรอง นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ครูภาษาไทยใช้ ในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะเมื่อต้องการสอนเนื้อหาเรื่องต่าง ๆ ก็มักหยิบยกเอาวรรณคดี หรือวรรณกรรมร้อยกรองมาใช้ในการเรียนการสอน ร้อยกรองจึงมีความสำคัญในฐานะของเครื่องมือ ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของครูภาษาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ร้อยกรองยังเป็นรากฐานของประเทศชาติและสังคมไทยในฐานะเครื่องดำรงรักษาวัฒนธรรมของชาติให้มั่นคง ชรินทร์ เนืองศรี (2551: 3) กล่าวถึงสภาพปัจจุบัน นักเรียนมีความสนใจด้านร้อยกรองน้อยลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโอกาส ที่จะใช้มีน้อยมาก การพูดตอบโต้กันระหว่างชายหญิงก็ไม่นิยมใช้ภาษาร้อยกรองเนื่องจากค่อนข้างจะดูล้าสมัยไม่ทันเหตุการณ์ และสังคมเปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับ จรินทร์ งามแม้น (2553: 4) กล่าวถึงปัญหาของการจัดการเรียนการสอนหน่วยการเขียนคำประพันธ์ ยังไม่ประสบผลสำเร็จ กล่าวคือ นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ส่วนใหญ่ขาดทักษะการเขียนคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 และมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเขียน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องยากและตนเอง ไม่สามารถจะทำได้ อีกทั้ง นักเรียนไม่แม่นฉันทลักษณ์ ใช้สัมผัสและคำคล้องจองไม่ถูกต้อง ไม่รู้จังหวะคำ แบ่งจังหวะคำไม่ได้ ถ้อยคำที่นำมาเรียบเรียงเป็นคำพูดร้อยแก้วที่ยังไม่มีคำสัมผัสในที่คล้องจองกัน กรนิษฐ์ ชายป่า (2556: 1) กล่าวว่า จากประสบการณ์สอนภาษาไทย เป็นเวลานานกว่า 20 ปีโดยเฉพาะเรื่องกาพย์ยานี 11 จากการตรวจงานพบว่า ผู้เรียนไม่แม่นยำเรื่องฉันทลักษณ์แบ่งจังหวะคำไม่ได้ ถ้อยคำที่นำมาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วที่ไม่มีสัมผัสคล้องจองกัน สื่อและกระบวนการเรียนรู้กิจกรรมและวิธีการสอน จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะและเจตคติที่ดีต่อการแต่งกาพย์ยานี 11 เชิงสร้างสรรค์ได้ การจัดการเรียนรู้เรื่องการแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 นั้นสิ่งสำคัญคือ ผู้เรียนต้องเข้าใจการสัมผัสคล้องจองฉันทลักษณ์ และการใช้คำที่ สื่อความหมายชัดเจนและมีจินตนาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ยากสำหรับทั้งผู้สอนและผู้เรียน
จากการจัดการเรียนการสอนในมาตรฐาน ท 4.1 หลักภาษาไทย เรื่องการแต่งคำประพันธ์ กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนวัดลาดสนุ่น ยังไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามรายงานผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของโรงเรียนวัดลาดสนุ่น ปีการศึกษา 2557 (1: 2557) ที่ผ่านมาพบว่า มาตรฐานการเรียนรู้หลักภาษาไทย มาตรฐานการเรียนรู้ ท 4.1 หลักภาษาไทย มีค่าเฉลี่ยความแตกต่างจากระดับประเทศ -9.08 นอกจากนี้ จากการประเมินคุณภาพผู้เรียนระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของโรงเรียนวัดลาดสนุ่น คะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ มาตรฐาน ท 4.1 ปี 2557 ยังต่ำกว่า ปี 2558 (1: 2558) มีค่าความแตกต่างถึง -16.1 ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องหลักภาษา ไม่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน และครูจะต้องปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนรู้อย่างเร่งด่วน
จากปัญหาที่กล่าวมา ผู้ศึกษาจึงคิดว่าแบบฝึกเสริมทักษะเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่สามารถ นำมาใช้ในการเสริมทักษะการแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 ได้ดี เพราะแบบฝึกเสริมทักษะเป็นสื่อการเรียนชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นอย่างเป็นระบบ ช่วยให้นักเรียนฝึกทักษะการเรียนรู้ เป็นประโยชน์ต่อ การพัฒนาผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอน คือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ สามารถวัดผลและประเมินผลการเรียนช่วยให้ครูทราบความก้าวหน้าหรือข้อบกพร่องของนักเรียน และช่วยให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน ดังที่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545) มาตรา 22 กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาและได้กล่าวถึงสื่อการสอนไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ครูผู้สอนและผู้จัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็น ผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่างๆและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียนเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ ของตน สอดคล้องกับ ชรินทร์ เนืองศรี (2551: 1) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการเขียนร้อยกรอง ส่งเสริมให้นักเรียนได้เขียนร้อยกรองอย่างสร้างสรรค์ โดยคิดหาวิธีสอนและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อฝึกฝนการเขียนของนักเรียน จึงสร้างชุดฝึกการเขียนร้อยกรองเฉพาะกาพย์ยานี 11 สาระ การเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เช่นเดียวกับ จรินทร์ งามแม้น (2553: 5-6) ได้กล่าวว่า แบบฝึกเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการฝึกทักษะให้แก่นักเรียน ทำให้นักเรียนสนใจไม่เบื่อหน่าย เป็นแรงจูงใจให้นักเรียนเพิ่มความพยายามมากขึ้น ในส่วนของครูนับว่า มีประโยชน์มาก เพราะแบบฝึกช่วยประหยัดเวลา แรงงาน ครูสามารถใช้แบบฝึกเป็นเครื่องมือสำหรับประเมินผลการเรียนทำให้ทราบพัฒนาการด้านทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ของนักเรียน
ผู้ศึกษาเห็นว่าการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นั้นจะช่วยให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ทำให้นักเรียนได้รับความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องคำสัมผัสคล้องจอง ลักษณะคำประพันธ์ ฉันทลักษณ์ และการใช้คำที่สื่อความหมายอย่างมีจินตนาการ ทำให้ผู้เรียน เกิดความเพลิดเพลินในการเรียน มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนแต่งกาพย์ยานี 11 อีกทั้ง ยังเป็นการรักษาและสืบทอดลักษณะคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 ของไทยเอาไว้ให้ยั่งยืนต่อไปได้
วัตถุประสงค์การวิจัย
1.2.1 เพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
1.2.2 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11
1.2.3 เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดลาดสนุ่น ที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11
การศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตเนื้อหา ประชากรแลกลุ่มตัวอย่างและตัวแปรที่ศึกษาไว้ดังนี้
ขอบเขตประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1) ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดลาดสนุ่น ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 3 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 131 คน
2) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวนนักเรียน 43 คน ซึ่งได้มาโดย การเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) บุญชม ศรีสะอาด (2545: 44) โดยมีเหตุผลสำคัญในการเลือกดังนี้
2.1) ผู้วิศึกษาทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงทราบถึงปัญหาของการจัดการเรียนรู้ และต้องการจะพัฒนาการจัดการเรียนรู้เรื่อง การแต่ง กาพย์ยานี 11 ให้มีคุณภาพ
2.2) มีการจัดการเรียนการสอนตรงตามเนื้อหาที่จะใช้ทำการศึกษา
2.3) มีจำนวนนักเรียนเพียงพอสำหรับการทำศึกษา
2.4) นักเรียนในชั้นเรียนมีทั้งที่เรียนเก่ง ปานกลาง อ่อน คละกันไป เพื่อจัดนักเรียน ออกเป็นกลุ่มย่อย เหมาะสำหรับการศึกษา
ขอบเขตของเนื้อหา เนื้อหาที่ใช้ในแบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นี้มีทั้งหมด 6 เล่ม ใช้เวลาเรียน 20 ชั่วโมง
เล่มที่ 1 กาพย์ยานี ลีลาร้อยกรอง (ความรู้เบื้องต้นและวิธีการอ่านกาพย์ยานี 11)
เล่มที่ 2 ทำนองคล้องสัมผัส (คำสัมผัส คล้องจอง)
เล่มที่ 3 จัดกระบวนคำ (ลักษณะคำประพันธ์กาพย์ยานี 11)
เล่มที่ 4 เลิศล้ำคำไวพจน์ (คำไวพจน์)
เล่มที่ 5 อรรถรสคำประพันธ์ (วิธีการแต่งกาพย์ยานี 11)
เล่มที่ 6 สร้างสรรค์คุณค่ากาพย์ยานี 11 (คุณค่าของกาพย์ยานี 11 และการแต่ง กาพย์ยานี 11 ตามจินตนาการ)
ผลการวิจัย
การวิเคราะห์การผลการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้ผลดังนี้
1) ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือคะแนนจากกระบวนการ (E1 ) พบว่านักเรียนผ่านกระบวนการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ การแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยได้คะแนนรวมเฉลี่ย 80.47 จากคะแนนเต็ม 100 แสดงว่าแบบฝึกทักษะมีประสิทธิภาพของกระบวนการที่จัดไว้ในบทเรียน (E1 ) เท่ากับ 80.47 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะทุกเล่ม พบว่านักเรียนทำคะแนนได้เกินร้อยละ 80 ทุกเรื่อง
เมื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากการเปรียบเทียบคะแนนสอบก่อนเรียนกับคะแนนสอบหลังเรียน (E2 ) พบว่า นักเรียนทำข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนรู้ได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.74 เมื่อนักเรียน ได้เรียนรู้จากแบบฝึกทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 แล้วทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน ได้คะแนนเฉลี่ย 7.61 แสดงว่าแบบฝึกทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงผลการเรียนของนักเรียน (E2 ) มีค่าการพัฒนา 3.87
จากนั้นได้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของการแต่งคำประพันธ์ ตามเกณฑ์ 80/80 ได้ค่าเฉลี่ย มีค่า E1 /E2 เท่ากับ 80.40 / 80.12 และ 87.16 / 80.47 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าแบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2) ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ วิชา ภาษาไทย สาระการเรียนรู้พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่อง การแต่งกาพย์ยานี 11 ผู้วิจัยได้ดำเนินการสร้าง และการหาคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ วิชาภาษาไทย สาระการเรียนรู้พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 แผน ผู้เชี่ยวชาญประเมินความเหมาะสม ระหว่างการจัดแผนการเรียนรู้ กับผลการเรียนรู้/จุดประสงค์การเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 0.94 แสดงว่า แผนการจัดการเรียนรู้ มีประสิทธิภาพเหมาะสมสำหรับใช้ในการจัดการเรียนรู้
3) เมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน แล้วนำผลคะแนน ที่ได้มาจากการคำนวณค่าความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย ผลการทดสอบหลังเรียนกับก่อนเรียน โดยใช้ t-test (Dependent Samples) ศึกษาและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การแต่งกาพย์ยานี 11 ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะ ชุดที่ 1-6 พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนด้วยแบบฝึกทักษะร้อยละ 11.59 ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียน ร้อยละ 33.93 ทำให้มีค่าการพัฒนาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.98 แสดงว่าผลสัมฤทธิ์การเรียนหลังใช้ แบบฝึกทักษะหลังเรียนสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4) สร้างแบบสอบถามความพึงพอใจ ประเมินความเชื่อมั่นของแบบสอบถามความ พึงพอใจ ตามวิธีของครอนบาค (Cronbach) จากนั้นนำแบบสอบถามที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 จำนวน 43 คน พบว่า ข้อคำถามทั้ง 10 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นโดยรวม เท่ากับ 0.98
จากการสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ที่เรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการแต่ง กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแบบฝึก เสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด รวมเฉลี่ย ( = 4.52, S.D.= 0.19) นักเรียนมีความพึงพอใจเป็นรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ
อภิปรายผล
จากผลการศึกษา สามารถอภิปรายผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ดังนี้
1) แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 87.16 / 80.47 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 สอดคล้องกับ ชรินทร์ เนืองศรี (2551: 82) พัฒนาชุดฝึกทักษะการเขียนร้อยกรอง “กาพย์ยานี 11” กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ได้ค่าประสิทธิภาพ 86.66/80.71 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ จรินทร์ งามแม้น (2553: 95-96) ศึกษาการพัฒนาแบบฝึกการเขียนคำประพันธ์กลอนสุภาพและกาพย์ยานี 11 สำหรับนักเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 ได้ค่าประสิทธิภาพ 84.03/89.00 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เนื่องจากนักเรียนทำแบบฝึกทีละขั้นตอนตามลำดับความยากง่ายทำให้นักเรียนไม่เกิดความวิตกกังวล เป็นการประมวลความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดซึ่งสอดคล้องกับ กาญจนา ไพราม (2556: 63) ศึกษาผลการแต่งบทร้อยกรอง ประเภทกาพย์ยานี 11 ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยแบบฝึกที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 82.19/83.77 เนื่องจากแบบฝึกทักษะสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ ปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปใช้ทดลองทำให้แบบฝึกมีประสิทธิภาพ
จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า ประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการแต่ง กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยได้พัฒนานั้นมีประสิทธิภาพสูงมีผลมาจากการปรับปรุง และตรวจสอบจากผู้ที่เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะนำมาใช้กับนักเรียน อีกทั้งแบบฝึกยังมีเนื้อหาเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก มีความน่าสนใจ เหมาะกับผู้เรียนที่จะนำมาใช้ทบทวนได้ จึงทำให้แบบฝึก มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เหมาะกับผู้เรียนที่มีปัญหาและมีเจตคติที่ไม่ดีต่อ การแต่งกาพย์ยานี 11 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
2) ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การแต่ง กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้วิจัยได้ดำเนินการสร้าง และการหาคุณภาพของแผน การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 แผน ผู้เชี่ยวชาญประเมินความเหมาะสม ระหว่างการจัดแผนการเรียนรู้ กับผลการเรียนรู้/จุดประสงค์การเรียนรู้มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 0.92 ค่าประสิทธิภาพ 87.16/80.47 แสดงว่า แผนการจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเหมาะสมสำหรับใช้ในการจัดการเรียนรู้สามารถนำไปใช้สอนได้ สอดคล้องกับ สุวารีย์ สิงห์ยะบุศย์ (2550: 58-84) ศึกษาผลการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยโครงงาน ตามสาระการเรียนรู้ เรื่องครื้นเครงเพลงพื้นบ้าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยโดยโครงงานเรื่องครื้นเครงเพลงพื้นบ้าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่าแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.26/82.34 สอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ อมราภรณ์ กองสันเทียะ (2550: 49-67) ได้ศึกษาการพัฒนาแผนการเรียนรู้วิชาภาษาไทยเรื่องสุภาษิตอิศรญาณโดยใช้กิจกรรมโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาแผนการเรียนรูภาษาไทยเรื่องสุภาษิตอิศรญาณ โดยใช้กิจกรรมโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์80/80 ได้ค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 84.81/80.33 และดัชนีประสิทธิผลแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานเรื่องสุภาษิตอิศรญาณ ทั้ง 8 แผนเท่ากับ 0.68 และ รวิวรรณ พวงสมบัติ (2553: 98) ศึกษาการพัฒนาความสามารถใน การแต่ง กาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้กิจกรรมโครงงาน ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ได้ค่าประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมโครงงาน เท่ากับ 81.30/81.61
จากผลการวิจัย สามารถสรุปได้ ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ช่วยพัฒนาความสามารถในการแต่งกาพย์ยานี 11 ได้ สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
3) ประสิทธิภาพของแบบทดสอบวัดผลและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ร้อยละ 11.59 ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนด้วยแบบฝึก ร้อยละ 21.98 แสดงว่าผลสัมฤทธิ์การเรียนหลังใช้ แบบฝึกเสริมทักษะสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สอดคล้องกับงานวิจัยของ ชรินทร์ เนืองศรี (2551: 79) พัฒนาชุดฝึกทักษะการเขียนร้อยกรอง “กาพย์ยานี 11” กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน มีค่าอำนาจจำแนก .22 - .54 ค่าความยากตั้งแต่ .37 - .78 และความเชื่อมั่น 0.89 ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ รวิวรรณ พวงสมบัติ (2553: 106) ที่ได้ ค่าดัชนีประสิทธิผลของกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้โครงงาน เรื่องกาพย์ยานี 11 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่ากับร้อยละ 62.66 แสดงว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าและ มีพัฒนาการทางการเรียน จรินทร์ งามแม้น (2553: 92) กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการเขียนคำประพันธ์ของนักเรียนก่อนและหลัง การใช้แบบฝึกการเขียนคำประพันธ์กลอนสุภาพและกาพย์ยานี 11 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เมื่อพิจารณาราด้านพบว่าความสามารถในการเขียนคำประพันธ์กลอนสุภาพและกาพย์ยานี 11 ด้านฉันทลักษณ์อยู่ในระดับสูงส่วนด้านเนื้อหาในการใช้ภาษาอยู่ในระดับปานกลาง กาญจนา ไพราม (2556: 62) พัฒนาการใช้แบบฝึกทักษะการแต่งบทร้อยกรองประเภทกาพย์ยานี 11 กลุ่มสาระภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน หลังการใช้แบบฝึกแต่งต่างกับก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เนื่องจากแบบฝึกสามารถเพิ่มทักษะการแต่งบทร้อยกรองประเภทกาพย์ยานี 11 ให้นักเรียนได้ฝึกฝนและทำซ้ำด้วยตนเอง ประกอบกับความน่าสนใจของเนื้อหาและภาพประกอบ ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเป็นระบบ อีกทั้งแบบฝึกที่ใช้ มีเนื้อหาที่เหมาะสม และไม่ยากจนเกินไป นักเรียนได้ฝึกทักษะตามลำดับขั้นตอน ตามกิจกรรมที่น่าสนใจ ทำให้เกิดความสุขในการเรียน การแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11 จนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น
จากผลการวิจัยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะแตกต่างกัน โดยมีค่าการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นถึง 21.98 สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ที่ดีขึ้นมาก เนื่องจากการใช้แบบฝึกเสริมทักษะที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาทักษะการแต่งกาพย์ยานีตามลำดับขั้นตอนจากง่ายไปหายาก และการได้รับคำชมเชย การให้กำลังใจ รวมถึงจะต้องมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดแทรกความสนุกสนาน เช่นการใช้เกม การใช้สื่อการสอนอื่นๆ ร่วมกับการใช้แบบฝึกด้วยจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสุข และสนุกกับการเรียนเรื่อง การแต่งคำประพันธ์กาพย์ยานี 11
4) จากการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 พบว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.25 แสดงให้เห็นว่า แบบฝึกทักษะการแต่งกาพย์ยานี 11 ชุดนี้นักเรียนมีความพึงพอใจ มากที่สุด เนื่องจาก ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้น เมื่อได้ใช้แบบฝึกเสริมทักษะ การแต่งกาพย์ยานี 11 ที่มีเนื้อหาน่าสนใจเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก ทำให้นักเรียนมีพัฒนาการ ในการแต่งกาพย์ยานี 11 ที่ดีขึ้นสอดคล้องกับงานวิจัยของ จรินทร์ งามแม้น (2553: 98) ได้ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 ที่มีต่อการเรียนด้วยแบบฝึกการเขียนคำประพันธ์กลอนสุภาพและกาพย์ยานี 11 พบว่า นักเรียนเห็นด้วยมากที่สุดในเรื่องของประโยชน์ของแบบฝึก และบรรยากาศในการเรียนด้วยแบบฝึก เพราะนักเรียนได้เรียนรู้จากแบบฝึกโดยตรง รวมถึงแบบฝึกมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยและระดับความสามารถของผู้เรียน กาญจนา ไพราม (2556: 64) จากการทดสอบความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการแต่งบทร้อยกรอง ประเภทกาพย์ยานี 11 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนมีความเห็นด้วยในระดับดีมากต่อแบบฝึกทักษะที่มีเนื้อหาน่าสนใจมีกิจกรรมในแต่ละชุดที่หลากหลาย สร้างความอยากเรียนรู้ของนักเรียน นักเรียนได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น และได้ฝึกทักษะอย่างเป็นขั้นตอนซ้ำ ๆ และต่อเนื่อง เนื้อหาของแบบฝึกเริ่มจากง่ายไปหายากซึ่งเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวนักเรียนเอง
จากการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อแบบฝึกการแต่งกาพย์ยานี 11 นักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุดเนื่องจากประโยชน์ที่นักเรียนได้รับเกิ