เผยแพร่ผลงานปฐมวัย
ชื่อผู้วิจัย นางยุภา เพียรสกุล
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สังกัด โรงเรียนบ้านตะโละใส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาจับคู่แบบตารางสัมพันธ์เพื่อฝึกทักษะความคิดรวบยอด สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านตะโละใส เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาจับคู่แบบตารางสัมพันธ์เพื่อฝึกทักษะความคิดรวบยอด สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านตะโละใส และเพื่อเปรียบเทียบทักษะความคิดรวบยอดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านตะโละใส ระหว่างก่อนและหลังที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาจับคู่แบบตารางสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1/2 โรงเรียนบ้านตะโละใส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาจับคู่แบบตารางสัมพันธ์เพื่อฝึกทักษะความคิดรวบยอด สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านตะโละใส จำนวน 24 แผน แบบประเมินทักษะความคิดรวบยอด และแบบสังเกตพฤติกรรมการฝึกทักษะความคิดรวบยอด สถิติที่ใช้ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้ t-test dependent ที่ระดับความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95
ผลการวิจัยพบว่า แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาจับคู่แบบตารางสัมพันธ์เพื่อฝึกทักษะความคิดรวบยอด สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านตะโละใส มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.16/ 87.07 ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาจับคู่แบบตารางสัมพันธ์เพื่อฝึกทักษะความคิดรวบยอด สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านตะโละใส เท่ากับ 0.7681 นั่นหมายความว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าทางทักษะความคิดรวบยอดเพิ่มสูงขึ้น 0.7681 หรือคิดเป็นร้อยละ 76.81 และนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านตะโละใส ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาจับคู่แบบตารางสัมพันธ์เพื่อฝึกทักษะความคิดรวบยอด มีทักษะความคิดรวบยอดหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณาทักษะความคิดรวบยอดรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ด้านการจำแนกตามสี รองลงมาได้แก่ ด้านการจำแนกตามขนาด และด้านการจำแนกตามลักษณะ รูปทรง