การพัฒนาความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยม
ปีที่ 4 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมือ
ผู้วิจัย นางสาวปาริชาติ วงศ์สง่า ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย
จังหวัดมหาสารคาม สังกัดสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีที่พิมพ์ 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหา และความต้องการ ในการจัดการเรียนการสอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม 2) เพื่อสร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบการจัดกิจกรรม แบบกลุ่มร่วมมือ ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมือ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ
4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่ต่อการพัฒนาความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 49 คน
ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเป็นกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ จำนวน 28 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากง่าย อยู่ระหว่าง 0.45 - 0.68 ค่าอำนาจจำแนก อยู่ระหว่าง 0.30 - 0.73 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 ใช้ระยะเวลาในการทดลอง 20 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 - 17 มกราคม 2556 และแบบประเมินความพึงพอใจ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณ (Rating Scale) 5 ระดับ ของลิเคิร์ท (Likert) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ(%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่าดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. สภาพปัจจุบันปัญหา และความต้องการในการจัดการเรียนการสอน ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม การจัดสภาพการจัดการเรียน
การสอนอ่านอย่างมีวิจารณญาณในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง แต่มีความต้องการในการจัด การเรียนการสอนอยู่ ในระดับมาก และผู้เรียนมีสภาพการเรียนที่พัฒนาทักษะในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณอยู่ในระดับน้อย แต่ความต้องการการเรียนที่จะพัฒนาความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณอยู่ในระดับมาก
2. แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมือ
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.52/88.42 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมือ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน
สูงกว่าก่อนเรียน
4. ค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมือ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ มีค่าเท่ากับ 0.7761 หมายความว่า นักเรียนมีความก้าวหน้า และมีความรู้ความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 77.61
5. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยการพัฒนาความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประกอบการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมืออยู่ในระดับพึงพอใจมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อการสอน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด นอกจากนั้น มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก