รายงานการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
ผู้ศึกษา นางจรีภรณ์ แก้วรักษา
สถานที่ โรงเรียนบ้านหัวสะพาน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์
ปีการศึกษา ๒๕๕๙
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ ๑) ศึกษาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๒) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และ ๓) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบทักษะการอ่านและเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนบ้านหัวสะพาน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต ๑ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ จำนวน ๒๒ คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้เรื่องแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก จำนวน ๒๐ แผน แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก จำนวน ๕ ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ๒๐ ข้อ มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ ๐.๒๐ - ๐.๗๓ ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ ๐.๒๕ - ๑.๐๐ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ ๐.๙๙๗๘ แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน ๑๕ ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานในการศึกษา โดยใช้ค่าสถิติ t – test (Paired – Samples t-test) ผลการศึกษาพบว่า
๑. แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีประสิทธิภาพ ( / ) ๘๗.๐๙/๘๘.๑๘
๒. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนและแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
๓. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำยาก โดยรวมอยู่ในระดับมาก