การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่ม
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
โดยจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill
ชื่อผู้วิจัย นางสาววฤณภา เทียมสองชั้น
ปีที่ทำการวิจัย ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill 2) เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด มีคะแนนที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ขึ้นไป 3) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด มีคะแนนที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ขึ้นไป 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/3 จำนวน 35 คน กำลังศึกษาอยู่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียน เทศบาล 7 รถไฟสงเคราะห์ อำเภอ เมือง จังหวัดอุดรธานี สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Positive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต จำนวน 9 แผน รวม 18 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกประจำวันของผู้วิจัย แบบสัมภาษณ์นักเรียน แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่ได้รับการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลการวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบกาวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) แบ่งเป็น 3 วงจรปฏิบัติการ ผู้วิจัยได้บันทึกผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ แบบบันทึกประจำวันของครู แบบสัมภาษณ์นักเรียน และแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร เมื่อสิ้นสุดแต่ละวงจรได้ทำการทดสอบเพื่อประเมินพัฒนาการของนักเรียน และนำข้อมูลจากการสะท้อนผลการปฏิบัติมาวิเคราะห์ร่วมกับผู้ช่วยวิจัย เพื่อปรับปรุงแก้ไขการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในวงจรการปฏิบัติการต่อไป
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารกับการ
ดำรงชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยการจัดกิจกรรม 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียนประกอบด้วย การทบทวนเนื้อหาความรู้เดิม โดยใช้คำถาม รูปภาพ และการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบโดยเขียนบนกระดาน 2) ขั้นสอน ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นขั้นสร้างความขัดแย้งทางปัญญา ขั้นกำหนดสถานการณ์ปัญหา หรือนำเสนอคำถาม เสนอแนวคำตอบรายบุคคลมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ขั้นไตร่ตรอง เป็นขั้นตอนการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาหรือคำถาม เสนอแนวคำตอบในระดับกลุ่มย่อย และระดับชั้นเรียน การคิดวิเคราะห์ และตรวจสอบคำตอบ ขั้นสรุปโครงสร้างใหม่ทางปัญญา ลักษณะของการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ ครูกำหนดประเด็นคำถามหรือประเด็นการอภิปราย แล้วมีการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการคิดและแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ โดยอาศัยความรู้ที่นักเรียนได้เรียนมาก่อนแล้ว เป็นพื้นฐานในการตอบคำถามหรือการอภิปราย ขั้นสรุป เป็นขั้นตอนที่นักเรียนและครูร่วมกันอภิปรายข้อสรุป แนวคิด และครูช่วยสรุปเพิ่มเติมเพื่อให้นักเรียนได้ความคิดรวบยอด และหลักการที่ชัดเจนถูกต้อง มีการวัด ประเมินผลจากใบงาน แบบสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ
2. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill 70 พบว่า มีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 27 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 35 คน คิดเป็นร้อยละ 77.14 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 70
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill พบว่าจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 28 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 35 คน คิดเป็นร้อยละ 80.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 70
4. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill ความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในด้าน ด้านเนื้อหาวิชา ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านสื่อการเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล มากทุกรายการ