การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการ
ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5. โรงเรียนบัวใหญ่ : นครราชสีมา.
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) ทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ4) ประเมินผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยเปรียบเทียบความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยา และศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/4 ของโรงเรียนบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 42 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยา แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติทีแบบไม่อิสระและการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาข้อมูลพื้นฐานพบว่า จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่สอง พ.ศ. 2552 –2561กำหนดให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะความสามารถการคิดโดยเน้นทักษะการคิดขั้นสูงสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลายและสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนด้านความสามารถในการคิด แต่สภาพการจัดการเรียนการสอนของครูยังใช้การสอนแบบบรรยาย ขาดการฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจริง การสืบเสาะค้นหาความรู้ สร้างความรู้ด้วยตนเอง และการฝึกทักษะกระบวนการคิดวิจารณญาณอย่างมีเหตุผลยังมีน้อย
2. รูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีชื่อว่า“ ERISAE Model” มีองค์ประกอบสำคัญ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้และทักษะ สิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ หลักการตอบสนอง ระบบสังคม และสิ่งสนับสนุน กระบวนการเรียนการสอนมี 6 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นกระตุ้นการเตรียมความพร้อม (Encouragement and Preparation: E) 2) ขั้นทบทวนความรู้เดิม (Reviewing Knowledge: R) 3) ขั้นสืบค้นและฝึกปฏิบัติทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Inquiry and Practice Critical Thinking Skill: I) 4) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปความรู้ (Sharing and Summarizing: S) 5) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ (Application of Knowledge: A) และ 6) ขั้นประเมินผล (Evaluation: E) และรูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 83.50/85.52 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
3. ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนชีววิทยาสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความคิดเห็นของนักเรียนโดยภาพรวมนักเรียนมีความเห็นด้วยต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 4.44 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) มีค่าเท่ากับ 0.75 และนักเรียนมีความเห็นด้วยต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูในระดับมากที่สุด เนื่องจากครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง นักเรียนมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ และแสวงหาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถสร้างองค์ความรู้ ฝึกการคิดและสื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ให้กับผู้อื่นได้