บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ของโรงเรียนบ้านปางอ้อย
ผู้รายงาน : นายเดชา ประชุม
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านปางอ้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 2
ปีการศึกษา : 2559
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางอ้อยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 2
มีวัตถุประสงค์ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนบ้านปางอ้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 2ในด้านการวางแผน(Planning) การดำเนินการ (Doing) การติดตามและประเมินผล(Checking) และการปรับปรุงพัฒนา (Acting)โดยกระบวนการบริหารเชิงคุณภาพ (PDCA)
ประชากรที่ใช้รายงาน เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 24 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 24 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและที่ปรึกษาจำนวน 15 คน ในปีการศึกษา 2559 รวมทั้งสิ้นจำนวน70 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมโครงการและแบบประเมินผลสำเร็จของโครงการจำนวน 3 ชุดได้แก่
ฉบับที่ 1 แบบประเมินความคิดเห็นที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านปางอ้อย ฉบับที่ 2 แบบประเมินผลและรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ฉบับที่ 3 แบบประเมินผลสำเร็จโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านทักษะการทำงานและทักษะอาชีพ ฉบับที่ 4 แบบประเมินผลสำเร็จโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน
ฉบับที่ 5 แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของ
เศรษฐกิจพอเพียง
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสรุปเป็นบรรยายความเรียงประกอบตาราง
ผลการรายงานพบว่าผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางอ้อยโดยการนำหลักกระบวนการบริหารเชิงคุณภาพ (PDCA)
ด้านการวางแผน (Plan) พบว่า คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รู้ และเข้าใจถึงเป้าหมาย ในการดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนเป็นอย่างดี ทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานโครงการในทุกกิจกรรมอย่างเต็มความสามารถ ส่งผลให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล จนนำไปสู่ความสำเร็จ ของโครงการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการทุกฝ่ายเกิดความพึงพอใจต่อผลการพัฒนาโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านปางอ้อย
ด้านการนำแผนไปปฏิบัติ (Do) พบว่า ในการดำเนินกิจกรรมทุกกิจกรรมได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนในระดับดีมาก สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการนั้นเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดทุกกิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 98 และการใช้งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมในภาพรวม ส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายงบประมาณตามที่กำหนดไว้
ด้านการติดตามตรวจสอบและประเมินผล (Check) พบว่า ทุกกิจกรรมได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนในระดับดีมาก ระยะเวลาที่ใช้และการใช้งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมในภาพรวมส่วนใหญ่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ทุกกิจกรรม
ด้านการแก้ไขปรับปรุงงาน (Act) พบว่า การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านปางอ้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทุกกิจกรรมและถ้าเกิดปัญหาในขณะปฏิบัติงานจะได้รับการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมทันที ทำให้เกิด การแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลให้การปฏิบัติงานสำเร็จบรรลุเป้าหมายทุกกิจกรรม
ผลการประเมินผลสำเร็จโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางอ้อยพบว่า
ผลสำเร็จของโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยภาพรวมมีความสำเร็จในระดับมากที่สุด ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน มีความสำเร็จในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด และด้านทักษะการทำงานและอาชีพ มีความสำเร็จในระดับมาก ตามลำดับ
ผลสำเร็จด้านทักษะการทำงานและอาชีพ ตามความคิดเห็นของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยพบว่าผู้เรียนมีทักษะการทำงานและอาชีพในระดับมากที่สุด สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานการปลูกผักปลอดสารพิษ และผู้เรียนมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รองลงมา คือ ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานการเลี้ยงปลา และผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามลำดับ
ผลสำเร็จด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน ตามความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านความซื่อสัตย์สุจริต มีค่าเฉลี่ยรวมสูงที่สุด รองลงมา คือ ด้านวินัย ด้านอยู่อย่างพอเพียง ด้านความมุ่งมั่นในการทำงาน และด้านความมีจิตสาธารณะ ตามลำดับ
ด้านความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ พบว่า ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน มีความพึงพอใจต่อโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการและมีความต้องการที่จะให้โรงเรียนดำเนินโครงการและกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดคุณภาพกับผู้เรียนอย่างแท้จริงโรงเรียนควรจะประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน และดำเนินการกิจกรรมร่วมกัน บุคคลากรในโรงเรียนควรจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพโดยการศึกษาดูงานเพื่อนำประสบการณ์จากสถานศึกษาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ครบวงจร มาปรับประยุกต์ใช้ในการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ อีกทั้งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันระดมทรัพยากรจากท้องถิ่นและส่วนราชการอื่นๆมาร่วมพัฒนาสร้างศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น
โรงเรียนควรมีกิจกรรมการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรครู และนักเรียนที่ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของกิจกรรมโครงการตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดการพัฒนาและนำเอาแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข สมดุล 4 มิติ มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริงต่อไป