วิจัย การเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่
ชื่อเรื่อง วิจัย การเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยการจัดกิจกรรมแนวสมดุลภาษา (Balanced Literacy)
ชื่อผู้วิจัย นางภรภัทร ชาญหิรัญกุล
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2556
การอ่าน เป็นการสร้างทักษะที่สำคัญสำหรับการศึกษาค้นคว้าและการดำเนินชีวิต และควรปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเริ่มจากการสร้างนิสัยรักการอ่าน การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนแนวสมดุลภาษา (Balanced Literacy) ที่เสริมสร้างนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อศึกษาผลของจัดกิจกรรมแนวสมดุลภาษา (Balanced Literacy) ที่มีต่อนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 3) เพื่อศึกษา ความพึงพอใจของผู้ปกครองและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมแนวสมดุลภาษา (Balanced Literacy) หลังการทดลอง กำหนดขั้นตอนในการวิจัยเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 การพัฒนากิจกรรม ขั้นที่ 3 การทดลองใช้กิจกรรม และขั้นที่ 4 การปรับปรุงกิจกรรม ระยะเวลาในการจัดกิจกรรม 20 ชั่วโมง ผลการวิจัยพบว่า
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน การสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 30 คน การสัมภาษณ์ครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จำนวน 5 คน และการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลจากการศึกษา สามารถนำไปออกแบบกิจกรรมและกำหนดขั้นตอนการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 20 กิจกรรม และขั้นตอนการจัดกิจกรรม 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 พร้อมใจอ่านและฟัง ขั้นที่ 2 สร้างทักษะการอ่านสะกดคำ ขั้นที่ 3 ร่วมเขียนเรื่องสร้างสรรค์จากการอ่าน ขั้นที่ 4 อ่านใจในแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขั้นที่ 5 บ้านสานรักการอ่าน
ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนากิจกรรม กำหนดโครงร่างของกิจกรรม จำนวน 20 กิจกรรม แต่ละกิจกรรม
มีองค์ประกอบ 6 ประการ คือ สาระสำคัญ จุดประสงค์ เวลาการจัดกิจกรรม ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
สื่อประกอบกิจกรรม และการวัดและประเมินผลกิจกรรม ผลการประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องของกิจกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า อยู่ในระดับดีมาก และผลการศึกษานำร่อง (Pilot Study) กิจกรรมที่พัฒนาขึ้น พบว่า มีความชัดเจน เหมาะสมกับนักเรียน และเหมาะสมกับเวลา
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้กิจกรรม ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 46 คน ผู้วิจัยทำการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อจัดเป็นกลุ่มทดลอง (Experimental Group) และกลุ่มควบคุม (Control Group) กลุ่มละ 23 คน ทำการทดลอง 20 ครั้ง ใช้แบบแผนการทดลองแบบ Pretest-Posttest Control Group Design ผลการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม มีผลการประเมินลักษณะนิสัยรักการอ่านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และกลุ่มทดลองมีผลการประเมินลักษณะนิสัยรักการอ่านหลังการทดลองสูงกว่าการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองและนักเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมแนวสมดุลภาษา พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
ขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงกิจกรรม ผลจากทดลองใช้กิจกรรมได้ข้อค้นพบที่จะสามารถนำไปปรับปรุงกิจกรรมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น คือ การใช้คำถามกระตุ้นของครูในการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและตอบคำถามจากเรื่องที่อ่านหรือฟัง การจัดกลุ่มผู้เรียนที่มีความหลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้และทำงานร่วมกับเพื่อนทุกคน และการให้ข้อมูลย้อนกลับทางบวกเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน