ผลการบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกิจกรรมลูกเสือสามัญ เพื่อส่
เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมประชาธิปไตยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์
ผู้วิจัย นายรัชกฤช ชาญหิรัญกุล
ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร)
กองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากิจกรรมการบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกิจกรรมลูกเสือสามัญ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมประชาธิปไตย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเพื่อศึกษาประสิทธิผลของกิจกรรมที่พัฒนาขึ้น การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) แบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนากิจกรรม ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้กิจกรรม และขั้นตอนที่ 4 การประเมินและปรับปรุงกิจกรรม ผลการวิจัย พบว่า
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เป็นการสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิชาลูกเสือสามัญ จำนวน 20 คน
เกี่ยวกับการส่งเสริมพฤติกรรมประชาธิปไตย และครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาที่รับผิดชอบการสอนหรือรับผิดชอบงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลจากการศึกษา สามารถนำไปออกแบบกิจกรรมการบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกิจกรรมลูกเสือสามัญ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 16 กิจกรรม
ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนากิจกรรม กำหนดโครงร่างของกิจกรรม จำนวน 16 กิจกรรม แต่ละกิจกรรม
มีองค์ประกอบ 6 ประการ คือ สาระสำคัญ จุดประสงค์ สาระการเรียนรู้ เวลาการจัดกิจกรรม ขั้นตอน การจัดกิจกรรม สื่อประกอบกิจกรรม และการวัดและประเมินผลกิจกรรม ผลการประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องของกิจกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีความสอดคล้องและเหมาะสม ผลการประเมินแผน การจัดกิจกรรม พบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกแผน และผลการศึกษานำร่อง (Pilot Study) กิจกรรมที่พัฒนาขึ้น พบว่า มีความชัดเจน เหมาะสมกับนักเรียน และเหมาะสมกับเวลา
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้กิจกรรม ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 60 คน ผู้วิจัยทำการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อจัดเป็นกลุ่มทดลอง (Experimental Group) และกลุ่มควบคุม (Control Group) กลุ่มละ 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ กิจกรรมการบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกิจกรรมลูกเสือสามัญเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 16 กิจกรรม แบบประเมินพฤติกรรมประชาธิปไตย และแบบสังเกตพฤติกรรมประชาธิปไตย ทำการทดลอง สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง รวม 16 ชั่วโมง ใช้แบบแผนการทดลองแบบ Pretest-Posttest Control Group Design ผลการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม มีผลการประเมินพฤติกรรมประชาธิปไตยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และกลุ่มทดลองมีผลการประเมินพฤติกรรมประชาธิปไตยหลังการทดลองสูงกว่าการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 พัฒนาการของพฤติกรรมทักษะชีวิตของกลุ่มทดลองจากการประเมิน 4 ครั้ง ในระหว่าง การจัดกิจกรรมพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกระยะ
ขั้นตอนที่ 4 การประเมินและปรับปรุงกิจกรรม ผลจากทดลองใช้กิจกรรมพบว่า กิจกรรม
การบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกิจกรรมลูกเสือสามัญเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมประชาธิปไตยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิผลตามเกณฑ์ที่กำหนด และได้ข้อค้นพบที่จะสามารถนำไปปรับปรุงกิจกรรมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น คือ การจัดกิจกรรมที่ควรใช้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และการประเมินที่เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน