การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้
สู่การเสริมสร้างพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดอ่าวบัว ปีการศึกษา 2559
ผู้ประเมิน : นายเดชา จันทิกาแก้ว
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอ่าวบัว
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1
หน่วยงาน : โรงเรียนวัดอ่าวบัว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1
ปีการศึกษา : 2559
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ สู่การเสริมสร้างพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดอ่าวบัว ปีการศึกษา 2559 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ ด้านกระบวนการของโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 171 คน ประกอบด้วย ครูจำนวน 13 คน นักเรียนจำนวน 81 คน ผู้ปกครองจำนวน 70 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินได้แก่ แบบสอบถามจำนวน 9 ฉบับ ทุกฉบับผ่านการตรวจคุณภาพ โดยมีค่าความเชื่อมั่นระหว่าง 0.807 - 0.955 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x-bar) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมิน ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ โดยภาพรวมพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ โดยภาพรวมพบว่า มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ โดยภาพรวมพบว่า มีความเหมาะสม
อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ มีดังนี้
4.1 ผลการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ โดยภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 พฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียนหลังดำเนินโครงการ โดยภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 พฤติกรรมการสอนของครูในการส่งเสริมให้นักเรียนใช้แหล่งเรียนรู้ โดยภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4 ความพึงพอใจของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่มีต่อโครงการ โดยภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. จากผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมและด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ดังนั้นผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมทรัพยากรด้านคน งบประมาณ สื่อวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จได้
2 จากผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการอยู่ในระดับมาก ดังนั้นโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้จะต้องมีความชัดเจนในกระบวนการดำเนินงาน สอดคล้องนโยบาย สภาพปัจจุบัน สภาพปัญหาและความต้องการ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมเป็นเจ้าของโครงการ
3 จากผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ดังนี้
3.1 ผลการดำเนินกิจกรรมตามโครงการอยู่ในระดับมาก ดังนั้นโรงเรียนควรมีการจัดทำโครงการต่อเนื่อง โดยมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม ให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.2 พฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียนอยู่ในระดับมาก ดังนั้นโรงเรียนและผู้ปกครองควรหาแนวทางในการส่งเสริมพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน โดยจัดกิจกรรมเสริมที่บ้าน ตลอดจนแนะนำ ติดตาม ประเมินและรายงานผลให้ทั้งสองฝ่ายรับทราบอย่างต่อเนื่อง
3.3 พฤติกรรมการสอนของครูในการส่งเสริมให้นักเรียนใช้แหล่งเรียนรู้อยู่ในระดับมาก ดังนั้นครูผู้รับผิดชอบโครงการควรมีการจัดทำทะเบียนแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับการใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีภูมิปัญญา มีส่วนร่วมในการวางแผน
3.4 ผลการประเมินความพึงพอใจของครู นักเรียนและผู้ปกครอง ที่มีต่อการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก ดังนั้นโรงเรียนจึงควรให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ร่วมประเมินความพึงพอใจ และร่วมกันปรับปรุงพัฒนากิจกรรมให้เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป