การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผิวและปริมาตร
วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานเรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI)
กับการจัดการเรียนรู้ตามคู่มือครู
ผู้วิจัย นางสาวปทุมวดี พิมพ์วิชัย
สถานศึกษา โรงเรียนจตุรพักตรพิมานรัชดาภิเษก อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการเรียนรู้ วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานเรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) กับการจัดการเรียนรู้ตามคู่มือครู การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานเรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) และการจัดการเรียนรู้ตามคู่มือครู และ 4) เพื่อศึกษาความคงทนในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานเรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนจตุรพักตรพิมานรัชดาภิเษก อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27 จำนวน 2 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 50 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 25 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 25 คน ซึ่งเลือกโดยการใช้วิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Custer Random Sampling) ด้วยการจับสลากโดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้การจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 16 ชั่วโมง 2) การจัดการเรียนรู้ตามคู่มือครูวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 16 ชั่วโมง 3) ชุดการเรียนรู้เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 14 ชุด และ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อมีค่าความยาก (p) ตั้งแต่ .20 - 0.80 มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (r) ตั้งแต่ .20 – .70 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .86 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานใช้ t – test (Dependent Samples) แบบไม่อิสระและ t – test (Independent Samples) แบบอิสระ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดการเรียนรู้ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้ ( / ) เท่ากับ 76.01/77.20 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยชุดการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน เมื่อเรียนด้วยชุดการเรียนรู้ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) สูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้ตามคู่มือครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนกับหลังเรียน 2 สัปดาห์ที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่า นักเรียนที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคล (TAI) มีความคงทนในการเรียน