การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร
และปริมาตร โดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับบทเรียนโปรแกรม
ผู้รายงาน นายวุฒิพงษ์ ปัญญามา
ปีที่ศึกษา 2559
บทคัดย่อ
รายงานผลการพัฒนาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชา ค 23101 คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 3 เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับบทเรียนโปรแกรม ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชา ค 23101 คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับบทเรียนโปรแกรม 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียน รายวิชา ค 23101 คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยใช้รูปแบบซิปร่วมกับบทเรียนโปรแกรม และ 3) พัฒนาพฤติกรรมการทำงานของนักเรียนที่เรียน รายวิชา ค 23101 คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยใช้รูปแบบซิปปา กลุ่มเป้าหมาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มเป้าหมายในการทดลองใช้นวัตกรรมและเครื่องมือประเมินคุณภาพนวัตกรรม คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านอุดมทรัพย์ ปีการศึกษา 2558 จำนวน 16 คน และกลุ่มที่ 2 กลุ่มเป้าหมายในการทดลอง เพื่อศึกษาผลการนำนวัตกรรมไปใช้ภาคสนาม คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านอุดมทรัพย์ ปีการศึกษา 2559 จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาและพัฒนาครั้งนี้ แบ่งออกเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา ประกอบ ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ 18 แผน แผนละ 1 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกผล หลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมการทำงานกลุ่มและประเมินผลงาน แบบฝึกหัด และแบบทดสอบท้ายวงจร ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นแบบปรนัยชนิดลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ หาค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าร้อยละ (Percentage) และรายงานผล ในรูปแบบการบรรยาย ผลการศึกษาและพัฒนานวัตกรรม สรุปผลดังนี้
1. ผลการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชา ค23101 คณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตรโดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับบทเรียนโปรแกรม พบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับบทเรียนโปรแกรม เป็นกิจกรรมที่นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มเพื่อน จนเกิดทักษะที่จำเป็น ในการดำเนินชีวิต และสามารถนำความรู้ประยุกต์ใช้ในชีวิต ประจำวันได้ เป็นรูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นทบทวนความรู้เดิม เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ทบทวนความรู้เดิมจากที่เคยเรียนหรือมีประสบการณ์ผ่านมาแล้ว ซึ่งนักเรียนจะต้องตอบคำถามหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่กำหนด
ขั้นที่ 2 ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่และทำความเข้าใจข้อมูลเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ในขั้นนี้ นักเรียนแสวงหาความรู้จากสถานการณ์ปัญหาที่ครูสร้างขึ้นจากบทเรียนโปรแกรม แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยเชื่อมโยงความรู้เดิมให้เข้ากับความรู้ใหม่
ขั้นที่ 3 ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในกลุ่ม กิจกรรมในขั้นนี้ ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มรับซองกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มละ 1 ชุด ซึ่งในซองกิจกรรมการเรียนรู้จะประกอบด้วย บัตรคำสั่ง ใบงานกิจกรรมกลุ่ม และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย โดยนำความรู้ที่ตนเองค้นพบ นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนสมาชิกในกลุ่มตนเอง เพื่อจัดทำผลงานกลุ่มให้มีคุณภาพและสร้างสรรค์
ขั้นที่ 4 ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ นักเรียนจะต้องสรุปหรือสร้างความคิด รวบยอดเกี่ยวกับความรู้จากเรื่องที่เรียน ครูช่วยสรุป จัดระเบียบความรู้ของนักเรียนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
ขั้นที่ 5 ขั้นแสดงผลงาน ให้นักเรียนส่งตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนในชั้น จากนั้นมีการร่วมกันอภิปราย แสดงความคิดเห็นและสรุปความรู้ร่วมกันอีกครั้ง แล้วให้นักเรียนนำผลงานกลุ่มตนเองปรับปรุงแก้ไขจนสมบูรณ์ จัดตกแต่งผลงานให้สวยงามตามความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะนำไปจัดแสดงบนป้ายนิเทศหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสร็จเรียบร้อยหรือในชั่วโมงว่าง เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา เปรียบเทียบ ประเมินผลงานกลุ่มของตนเองกับเพื่อน และนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขผลงานของตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ขั้นที่ 6 ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ในขั้นนี้ครูจะให้นักเรียน ทำแบบฝึกหัด เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียน และให้นักเรียนทำเป็นการบ้าน แล้วนำมาส่งครูในวันถัดไป
2. ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย 24.00 จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.00 ของคะแนนเต็ม และมีนักเรียน ผ่านเกณฑ์จำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 85.71
3. ผลการพัฒนาพฤติกรรมการทำงานของนักเรียน พบว่า เมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยทั้งชั้นเท่ากับ 26.35 คิดเป็นร้อยละ 82.34 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 70 คิดเป็นร้อยละ 83.33
สรุปได้ว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพฤติกรรมการทำงานของนักเรียนให้สูงขึ้นและผ่านเกณฑ์ที่กำหนดได้