รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ
ผู้รายงาน นายกิตติพงษ์ พลภักดี รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์
ปีที่ศึกษา ๒๕๕๙
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ในด้านบริบทสภาพแวดล้อม เกี่ยวกับความเหมาะสม และความสอดคล้องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ ด้านปัจจัยนำเข้า เกี่ยวกับความเหมาะสมของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรและวิธีการดำเนินการตามโครงการที่กำหนดไว้ ด้านกระบวนการ เกี่ยวกับความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานตามโครงการที่ปฏิบัติจริง ด้านผลผลิต เกี่ยวกับความสอดคล้องของผลการดำเนินการกับวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ และศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์
ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน ๑ คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน ๑ คน กรรมการสถานศึกษาฯ ๑๓ คน ครูผู้สอน ๓๕ คน ผู้ปกครองนักเรียน ๑๐๐ คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ๒๑๔ คน รวมทั้งสิ้น ๓๖๔ คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ๕ ระดับ ของลิเคิร์ท ซึ่งผู้รายงานได้จัดสร้างขึ้นโดยผ่านการตรวจพิจารณาหาความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างและเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการประเมินด้านบริบทสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต จำนวน ๕๐ ข้อ ซึ่งแบบสอบถามประเมินด้านบริบทสภาพแวดล้อม มีค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ .๙๑ แบบสอบถามประเมินด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ .๘๘ แบบสอบถามประเมินด้านกระบวนการ มีค่าความเชื่อมั่นรายด้าน เท่ากับ .๘๔ แบบสอบถามประเมินด้านผลผลิตมีค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ .๘๖ และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .๘๙
การจัดเก็บข้อมูล ผู้รายงานดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บ โดยแจกแบบสอบถามจำนวน ๓๖๔ ฉบับ แบบสอบถามที่ได้รับคืนมาจำนวน ๓๖๔ ฉบับ ซึ่งมีความสมบูรณ์ทั้ง ๓๖๔ ฉบับ คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยสถิติค่าเฉลี่ยร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา พบว่า
จากการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์ ในภาพรวม ผลการวิเคราะห์สามารถสรุปได้ดังนี้
๑. การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์ ตามความคิดเห็นของผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาฯ ครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = ๔.๕๐ , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = ๐.๕๘)
๒. การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์ โดยพิจารณาเป็นรายด้าน ดังนี้
๒.๑ ด้านบริบทสภาพแวดล้อม ตามความคิดเห็นของผู้อำนวยการโรงเรียน
รองผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาฯ และครูผู้สอน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = ๔.๕๖ ,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = ๐.๕๕)
๒.๒ ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาฯ และครูผู้สอน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = ๔.๔๑ ,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = ๐.๕๘)
๒.๓ ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาฯ ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = ๔.๔๔ , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = ๐.๖๐)
๒.๔ ด้านผลผลิต ตามความคิดเห็นของผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาฯ ครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = ๔.๖๐ , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = ๐.๕๙)
๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเจดีย์ โดยพิจารณาเป็นรายด้าน สรุปได้ดังนี้
๓.๑ ด้านบริบทสภาพแวดล้อม มีปัญหา และอุปสรรค ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายของโครงการเป็นไปตามความต้องการของบุคลากรเพียงบางส่วน และผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงการดำเนินงานกิจกรรมในโครงการ ซึ่งมีข้อเสนอแนะ คือ ควรให้บุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของโครงการ และควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่การดำเนินงานกิจกรรมให้ทั่วถึง ตามลำดับ
๓.๒ ด้านปัจจัยนำเข้า มีปัญหา และอุปสรรค ได้แก่ เอกสาร หนังสือ คู่มือเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ยังมีน้อย ชุมชนและผู้ปกครองยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการ ขาดวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญในการจัดกิจกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรม อีกทั้งพระวิทยากรประจำโรงเรียนยังมีความรู้ไม่ครอบคลุมทุกเรื่องในการจัดกิจกรรมของโครงการ ซึ่งมีข้อเสนอแนะ คือ ควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในการดำเนินการจัดซื้อสื่อ เอกสาร หนังสือ หรือคู่มือเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้เพียงพอ ควรมีการประสานกับ ผู้ปกครองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ชี้แจงนโยบายและเป้าหมายการดำเนินโครงการให้ชัดเจน สนับสนุนให้ครูเข้ารับการอบรมหรือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านคุณธรรมจริยธรรม และสนับสนุนให้พระวิทยากรประจำโรงเรียนเข้ารับการอบรมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ
๓.๓ ด้านกระบวนการ มีปัญหา และอุปสรรค ได้แก่ ระยะเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมมีความคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด การจัดกิจกรรมไม่ค่อยเป็นไปตามแผน ปฏิบัติการที่วางไว้ และขาดความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการ ซึ่งมีข้อเสนอแนะคือ มีการจัดทำปฏิทินการดำเนินงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการกำกับ ติดตามการดำเนินโครงการอย่างสม่ำเสมอ และพยายามให้ทุกคนเข้ามา มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ตามลำดับ
๓.๔ ด้านผลผลิต มีปัญหา และอุปสรรค ได้แก่ การร่วมกิจกรรมทางศาสนาของนักเรียนด้วยการปฏิบัติจริงยังทำได้น้อย นักเรียนบางส่วนไม่ให้ความสนใจในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมจริยธรรม นักเรียนบางคนไม่ได้อยู่กับบิดา มารดา และขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองเนื่องจากต้องทำงาน บุคลากรครูและผู้เกี่ยวข้องไม่ค่อยมีเวลาในการเข้าวัดปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร ซึ่งมีข้อเสนอแนะคือ ควรจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากยิ่งขึ้น ครูทุกคนควรปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้หลากหลายเพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียน จัดกิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียนและประชุมผู้ปกครองอย่างน้อยภาคเรียนละ ๑ ครั้ง เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกันและประสานความเข้าใจระหว่างบ้านและโรงเรียน โรงเรียนควรจัดกิจกรรมเข้าค่ายธรรมมะร่วมกับชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ตามลำดับ