การสร้างและพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า”
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นายสุรเศรษฐ์ บุญเกตุ
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ---
การวิจัยเรื่องการสร้างและพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์คือ
1.) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
2.) เพื่อพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
3.) เพื่อทดลองใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” มัธยมศึกษาปีที่ 6
4.) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” มัธยมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่
ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน ครูผู้สอนวิชาหน้าที่พลเมืองและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานวิจัยและการจัดทำนวัตกรรมทางการศึกษา จำนวน 9 คน และนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 /1 โรงเรียนสวนผึ้งวิทยาที่กำลังศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย
1.) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นด้านเนื้อหาในการพัฒนาชุดการเรียนรู้ของผู้บริหารโรงเรียน ครูและผู้เชี่ยวชาญ แบบสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับความต้องการ ในการพัฒนาชุดการเรียนรู้
2.) เครื่องมือในการประเมินผลชุดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบ วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน แบบสังเกตคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ (%) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ความคิดเห็นด้านเนื้อหาสาระที่เหมาะสมเกี่ยวกับ การพัฒนาชุดการเรียนรู้ โดยภาพรวม พบว่า ควรเป็นเนื้อหาตามหลักวิชาการที่มีมีประโยชน์ต่อผู้เรียน และครูผู้สอน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเน้นเนื้อหาให้เหมาะสมกับระดับชั้น สำนวนภาษาที่ใช้เขียนควรเป็นลักษณะที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย สื่อความหมายโดยตรงแก่ผู้อ่านโดยไม่ต้องตีความ และเขียนเนื้อหาให้ละเอียดครอบคลุมจุดประสงค์ ที่กำหนดในแต่ละเรื่อง ด้านรูปเล่ม ควรให้ใช้ภาพการ์ตูนสวยงามประกอบให้น่าอ่าน มีความแข็งแรงคงทน และสะดวกแก่การนำไปใช้ ด้านการนำไปใช้ควรใช้เป็นสื่อประกอบตามแผนการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล ควรมีทั้งแบบทดสอบ และแบบสังเกตพฤติกรรม เนื้อหาควรสืบค้นข้อมูลทางวิชาการให้ครบถ้วน มีแหล่งอ้างอิงเพื่อให้นักเรียนสามารถไปสืบค้นเพิ่มเติมได้ ควรจัดการเรียนรู้ทั้งในเวลาเรียนปกติ และให้นักเรียนศึกษานอกเวลาเรียน ด้านความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า นักเรียนทุกคนรู้จักและเคยได้ยินคำว่า “สังคมก้มหน้า” มาบ้างแล้ว และส่วนใหญ่ ยังไม่เคยศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติม ต้องการเรียนรู้สาระการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองเพื่อนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ต้องการเรียนรู้เนื้อหาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงโดยต้องการเรียนรู้อย่างละเอียด ควรจัดการเรียนรู้แบบกลุ่ม และต้องการวัดผลโดยใช้แบบทดสอบ การตอบคำถามปากเปล่า และสังเกตการปฏิบัติกิจกรรม
2. ผลการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า โครงร่างของชุดการเรียนรู้เป็นลักษณะการจัดทำชุดการเรียนรู้โดยยึดหลักเนื้อหาถูกต้องตามหลักวิชาการ คือ เนื้อหาสอดคล้องกับจุดประสงค์ เนื้อหาถูกต้อง เนื้อหายากง่ายพอเหมาะ เนื้อหาสั้นยาวพอเหมาะ และเนื้อหา ประกอบด้วยตัวอย่างที่เหมาะสม ด้านรูปเล่มแยกเนื้อหาชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ออกเป็น 12 เล่ม ซึ่งผลการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสมในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( X-bar = 4.55 / S.D.=0.32) และเมื่อนำชุดการเรียนรู้ไปหาประสิทธิภาพรายบุคคล แบบกลุ่มเล็ก และแบบภาคสนามได้ประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 61.11/62.50 , 70.37/71.94 และ 84.50/82.67 ตามลำดับ
3. ผลการทดลองใช้ชุดการเรียนรู้ พบว่า ชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” มีประสิทธิภาพของกระบวนการ/ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E1/E2) เท่ากับ 85.41/85.83 สรุปได้ว่า ชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” มัธยมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
4. การประเมินผลและปรับปรุงชุดการเรียนรู้ หลังจากนำชุดการเรียนรู้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปทดลองใช้ และได้ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในเกณฑ์ดีมากร้อยละ73.33 อยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ 26.67 การประเมิoคุณลักษณะอันพึงประสงค์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก และความคิดเห็นของนักเรียน ที่มีต่อชุดการเรียนรู้ เรื่อง “สังคมก้มหน้า” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับประเด็นคำถามที่ถามในเชิงบวก