การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง:นางสาวณัฐธยาน์ สนินัด
เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัยนางสาวณัฐธยาน์ สนินัด
ปีการศึกษา2559
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ประชากรในวิจัยประกอบด้วย ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – ประถมศึกษาปีที่ 6 และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 249 คน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ผู้บริหารต้นสังกัด กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูที่ปฏิบัติงานในโครงการ นักเรียนในโครงการ และผู้ปกครองนักเรียน รวมจำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลจำนวน 7 ฉบับ เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่าตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) โดยมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามฉบับที่ 1-4 ตามลำดับ ดังนี้ .768, .738, .846 และ .756 แบบบันทึกทักษะการปฏิบัติงาน แบบบันทึกการประเมินคุณลักษณะนักเรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และใช้การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ
ผลการวิจัย พบว่า
1. ความเหมาะสมด้านบริบทของการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลสานสายใยรักเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ พบว่า นโยบายของผู้บริหารต้นสังกัด รวมถึงบริบทของชุมชน เอื้อต่อการเรียนรู้ มีพื้นที่และแหล่งเรียนรู้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่สถานศึกษาและตัวนักเรียน
2. ความพอเพียงหรือเหมาะสมด้านปัจจัยนำเข้า ของโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลสานสายใยรักเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ พบว่า การดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง มีความพร้อมด้านสถานที่ งบประมาณ บุคลากร และผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมให้การสนับสนุน
3. การปฏิบัติด้านกระบวนการของการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลสานสายใยรักเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ พบว่า การจัดโครงการครั้งนี้ มีการเตรียมการเป็นอย่างดี ทั้งขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติตามแผน ขั้นประเมินผล และขั้นสรุปรายงานผล โดยเน้นการลงมือปฏิบัติแต่ละกิจกรรม และเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคณะครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน
4. ผลการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลสานสายใยรักเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ด้านผลผลิต มีดังนี้
4.1 ความพึงพอใจของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียนที่มีต่อโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลสานสายใยรักเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 ผลการประเมินการปฏิบัติงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 –ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลสานสายใยรักเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ในภาพรวมอยู่ในระดับดี ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ผลการประเมินคุณลักษณะผู้เรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 –ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลสานสายใยรักเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ในภาพรวมอยู่ในระดับดี ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลผลิต พบว่า กิจกรรมตามโครงการเป็นการฝึกทักษะชีวิตแก่ผู้เรียน นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้รับประสบการณ์ตรงนอกห้องเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเกิดรายได้ให้กับครอบครัว เสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง