การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
โดยการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก
ผู้รายงาน รัตนาภรณ์ วิถีเทพ
บทคัดย่อ
การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลักครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อ 1)พัฒนาและหาประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลักสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียน บ้านกุดชุมแสง ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ E1/E2=80/80 2) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบ้านกุดชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 19 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง(Purposive Sampling)ใช้แบบแผนการวิจัยแบบ One Group Pre-test Posttest Design เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก จำนวน 24 แผน 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาจำนวน 1ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x-bar) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) และการทดสอบค่าที (t – test) แบบ Dependent
ผลการทดลองพบว่า
1. แผนการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลักของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 มี 8 หน่วย หน่วยละ 3 แผนรวม 24 แผน ได้แก่ หน่วยบ้าน หน่วยฝนจ๋า หน่วยของใช้ หน่วยกินอย่างมีคุณค่า หน่วยคมนาคม หน่วยน้ำ หน่วยต้นไม้แสนรัก และหน่วยอากาศ มีประสิทธิภาพ = 89.50 / 86.83
2. ความสามารถในการแก้ปัญหาของ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 โดยการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก ก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยนักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการจัดประสบการณ์อยู่ในระดับดีสูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาซึ่งนักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเองที่ต้องแก้ไขทันทีในระดับสูงสุด และมีความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเองที่ไม่ต้องแก้ไขทันทีในระดับต่ำสุด