ชุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านคิดวิเคราะห์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้รายงาน นางสาวกัญญาพัชร พูลชื่น
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านคิดวิเคราะห์โดยใช้รูปแบบ CIPPA Model กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่อง การอ่านคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังเรียนด้วยชุดการเรียนรู้ 3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนรู้
ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 ห้องเรียน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 จำนวน 34 คน และนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 จำนวน 32 คน รวมทั้งสิ้น 66 คน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 32 คน ที่ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม ซึ่งนักเรียนแต่ละห้องเรียนมีผลการเรียนไม่แตกต่างกัน เนื่องมาจากทางโรงเรียนจัดห้องเรียนโดยคละความสามารถของนักเรียน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) ชุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านคิดวิเคราะห์โดยใช้รูปแบบ CIPPA Model กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 7 ชุด 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การอ่านคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 40 ข้อ เป็นแบบทดสอบแบบเลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก 3)แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนรู้
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพชุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านคิดวิเคราะห์โดยใช้รูปแบบ CIPPA Model กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีค่า E1/E2 เท่ากับ 81.96/81.25 แสดงว่า ชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การอ่านคิดวิเคราะห์ จากการเปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียน และหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนรู้ พบว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีผลคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก