การประเมินโครงการเยาวชนคนดีศรีสุพรรณของโรงเรียนเทศบาล ๓
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี
ผู้ประเมิน นายเฉลิมชาติ รุจิเชาว์
ปีการศึกษา 2559
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการเยาวชนคนดีศรีสุพรรณของโรงเรียนเทศบาล ๓ วัดไชนาวาส
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินด้านสภาพแวดล้อม
(context) ของโครงการ ประเมินปัจจัย (Input) ประเมินกระบวนการดำเนินโครงการ (Process) และ
ประเมินผลผลิตของโครงการ (Product) โดยใช้รูปแบบการประเมินของ CIPP Model กลุ่มประชากร
มีจำนวน 525 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน ครูผู้สอน จำนวน 39 คน นักเรียน
ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สามารถอ่านและเข้าใจข้อคำถาม จำนวน
474 คน และผู้เกี่ยวข้อง 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน คือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์และ
แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมนักเรียน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีสอบถาม สัมภาษณ์และบันทึกพฤติกรรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (µ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) และการวิเคราะห์เนื้อหา แปลผลข้อมูลโดยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ และการวิเคราะห์ความเรียงจากแบบสัมภาษณ์
ผลการประเมินพบว่า
1. ด้านสภาพแวดล้อม ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ประเมินด้านสภาพแวดล้อมโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (µ = 4.09, σ = 0.38) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ความสอดคล้องระหว่างนโยบายกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ความต้องการ ความจำเป็นและความคาดหวังและผลกระทบจากสังคมที่มีต่อโครงการอยู่ในระดับมากเช่นกัน และนักเรียนประเมินด้านสภาพแวดล้อม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (µ = 4.11 , σ = 0.43) เมื่อพิจารณาประเด็น พบว่า นักเรียนต้องการพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น
โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (µ = 4.09, σ = 0.39) เมื่อพิจารณารายประเด็น พบว่า ความพร้อม
ของงบประมาณ ความพร้อมของสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ และความพร้อมของบุคลากรอยู่ในระดับมาก
ทุกข้อ และนักเรียนประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (µ = 4.11 , σ = 0.45)
เมื่อพิจารณารายประเด็น พบว่า นักเรียนมีสื่อ วัสดุ อุปกรณ์สำหรับกิจกรรม มีความรู้ความเข้าใจ
โครงการเพียงพอ และให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างดี อยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการดำเนินงาน ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (µ = 4.08 , σ = 0.40) เมื่อพิจารณารายประเด็น พบว่า ด้านการวางแผน การประเมินผล การจัดกิจกรรม และการประชาสัมพันธ์อยู่ในระดับมากทุกข้อเช่นกัน และสำหรับนักเรียนประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก
(µ = 4.11 , σ = 0.45) เมื่อพิจารณารายประเด็น พบว่า นักเรียนมีการใช้เทคนิคในการฝึกปฏิบัติ
อย่างหลากหลาย ยังเป็นแกนนำได้แสดงออก และช่วยเผยแพร่โครงการไปยังชุมชนอยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิตของโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ประเมินด้านผลผลิต
ของโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (µ = 4.07 , σ = 0.39) เมื่อพิจารณารายประเด็น พบว่า พัฒนาการของนักเรียน และความก้าวหน้าของโครงการอยู่ในระดับมาก ส่วนนักเรียนประเมิน
ด้านผลผลิตของโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (µ = 4.11, σ = 0.45) เมื่อพิจารณารายประเด็นพบว่า นักเรียนให้การเคารพและเทิดทูนพระมหากษัตริย์อยู่ในระดับมาก และนักเรียนส่วนใหญ่
มีพัฒนาการในทุกรายการอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะที่สำคัญ
ทุกหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชนและชุมชน ควรเข้ามามีบทบาท โดยการให้การสนับสนุนโครงการด้านงบประมาณ สื่อ วัสดุ และอุปกรณ์ ให้มีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง และบูรณาการโครงการให้เข้ากับการจัดการเรียนการสอน มีการเชิดชูนักเรียนที่มีประพฤติกรรมดีและสามารถปฏิบัติตนได้ตามคุณลักษณะ ทั้ง 11 ประการ โดยมอบประกาศเกียรติคุณเชิดชูด้านคุณธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียนและควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน และก่อให้เกิดผลดีเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนต่อจังหวัดสุพรรณบุรี