การพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผล
โรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน) สังกัดกองการศึกษา
เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
ขื่อผู้รายงาน นายจำรูญ สายโท
หน่วยงานที่สังกัด โรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน)
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
ปีที่รายงาน 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ หลักเพื่อพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผลสำหรับโรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์และสังเคราะห์แนวคิดและแนวทางการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายใน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้และประเมินรูปแบบ และขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงรูปแบบ กลุ่มที่ศึกษา ขั้นตอนที่1 ได้แก่ ครูโรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน) จำนวน 15 คน และครูโรงเรียนเทศบาลอำนาจ และครูโรงเรียนเทศบาลพนา (สามัคคีวิทยา) ขั้นตอนที่ 2 ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และศึกษานิเทศก์ ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบ โดยโรงเรียนเทศบาลเทศบาล 1 วัดเทพมงคล และขั้นตอนที่ 4 ครูโรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน) จำนวน 15 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ การสอบถาม การสังเกต และการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยาย และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผลสำหรับโรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ประกอบด้วยโครงสร้างการดำเนินงานตามวงจรคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ตามระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การวางแผน ประกอบด้วย องค์ประกอบของการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และการจัดระบบบริหารและสารสนเทศ ขั้นที่ 2 การดำเนินงานตามแผน ประกอบด้วย องค์ประกอบของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ขั้นตอนที่ 3 การติดตามตรวจสอบ ประกอบด้วย องค์ประกอบของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาและประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และขั้นตอนที่ 4 การทบทวน ประกอบด้วย องค์ประกอบของการทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายในและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
2. ผลการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบจากการสนทนากลุ่มพบว่า ผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในรูปแบบ ผลการยืนยันของรูปแบบตามความคิดเห็นของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานประกันคุณภาพภายใน พบว่า ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับระบบการประกันคุณภาพภายในเห็นด้วยตามประเด็นของรูปแบบในทุกประเด็น และผลการตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างของรูปแบบ พบว่า รูปแบบมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ แสดงว่ารูปแบบการประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผลสำหรับโรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ มีความตรงเชิงโครงสร้างตามแนวคิดการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน
3. ผลการประเมินรูปแบบจากการนำไปทดลองใช้ พบว่า รูปแบบการประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผลสำหรับ โรงเรียนเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ (พุทธอุทยาน) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ มีความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับ มากที่สุดทุกประเด็น และมีความถูกต้องตามหลักการประกันคุณภาพภายใน