การพัฒนาชุดการสอน เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ-เศษวัสดุในท้องถิ่น
ชื่อผู้ศึกษา : นางแก้วอรุณ หนูสง
กลุ่มสาระ : การงานอาชีพและเทคโนโลยี
ปีการศึกษา: 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)เพื่อสร้างและพัฒนาชุดการสอน สาระวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ – เศษวัสดุในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/80 2)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สาระวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ - เศษวัสดุในท้องถิ่น ของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการสอน ระหว่างก่อนเรียน (PRE-TEST) และหลังเรียน (POST-TEST) 3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดการสอน สาระวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ – เศษวัสดุในท้องถิ่น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1)แบบสอบถามผู้สอนสาระวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี 2)ชุดการสอน สาระวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ – เศษวัสดุในท้องถิ่น 3) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล
ผลการวิจัย
พบว่า 1)การหาประสิทธิภาพของชุดการสอน เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ – เศษวัสดุในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพของด้านผลสัมฤทธิ์ ก่อนเรียน (E1) ร้อยละ 70.14 และประสิทธิภาพด้านผลสัมฤทธิ์ หลังเรียน (E2) ร้อยละ 87.71 แสดงว่ามีประสิทธิภาพของชุดการสอนกลุ่มสาระวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์) เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ – เศษวัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 70.14/87.71 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 70/80 ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำไปใช้ในการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างได้ องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ แนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนได้เรียนเป็นกลุ่ม มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สรุปความรู้ร่วมกัน รวมถึงการมีกิจกรรมและเกมในการฝึกทักษะในลักษณะนันทนาการ และฝึกทักษะรายบุคคลด้วยแบบกิจกรรมปฏิบัติ นอกจากนี้การมีสื่อที่หลากหลาย ซึ่งสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ในโอกาสและเวลาที่ต้องการ เป็นส่วนส่งเสริมให้ชุดการสอนเรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ – เศษวัสดุในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพเหมาะสมในการนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 2)การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ–เศษวัสดุในท้องถิ่น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แสดงให้เห็นว่าการยึดหลักการเรียนรู้ คือ เรียนรู้ทีละน้อยจากง่ายไปหายากตามลำดับการเรียนรู้ ให้นักเรียนมีโอกาสประสบความสำเร็จทีละขั้นตอน 3)การวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการสอน เรื่อง การประดิษฐ์วัสดุ – เศษวัสดุในท้องถิ่น นักเรียนมีความพึงพอใจ โดยมีความพึงพอใจในระดับมากทุกด้าน