การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามวัฏจักรการเรียนรู้ 5 ขั้น
หลากหลายทางชีวภาพ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย : สุชาดา พ่อไชยราช
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมีวัตถุประสงเพื่อ 1) พัฒนาชุดกิจกรรรมการเรียนรู้ ตามวัฏจักรการเรียนรู้ 5 ขั้น เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) ศึกษาประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน 4) ศึกษาความก้าวหน้าทางการเรียน 5) ศึกษาความคงทนของความรู้ของนักเรียน และ 6) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 โรงเรียนหนองกุงศรีวิทยาคาร อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 40 คน ซึ่งได้มาด้วยวิธีเลือกอย่างเจาะจง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่องการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 9 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 60 ข้อ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ
โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้ ทดสอบก่อนเรียนด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แล้วดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมร่วมกับจัดกิจกรรมตามแผนการจัดการเรียนรู้ตาม วัฏจักรการเรียนรู้ 5 ขั้น 9 แผน รวมเวลา 20 คาบ เมื่อเสร็จสิ้นทุกชุดกิจกรรมแล้วจึงทดสอบหลังเรียนครั้งที่ 1 ด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชุดเดิมแต่มีการสลับข้อคำถาม และนักเรียนตอบแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จากนั้นทดสอบหลังเรียนครั้งที่ 2 หลังจากกิจกรรมทั้งหมดเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 สัปดาห์
วิเคราะห์ข้อมูลโดยนำคะแนนทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน หลังเรียนครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 มาเปรียบเทียบความแตกต่างทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ด้วยสถิติค่าทีแบบกลุ่มตัวอย่างไม่อิสระต่อกัน
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มีค่า E1/E2 เท่ากับ 84.89/83.44 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ร้อยละ 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7108 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ที่ระดับ 0.5
2. นักเรียนที่เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05
3. นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนในระดับสูง (0.73)
4. คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนทั้ง 2 ครั้ง ไม่แตกต่างกันที่ระดับ 0.05 สรุปได้ว่านักเรียนมีความคงทนของความรู้
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับพึงพอใจมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.51)