การวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถ
ผู้วิจัย นางปิยะพร มาเพ้า โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ กองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ปีที่ทำวิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 กำหนดขั้นตอนการวิจัยเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนที่ 3 การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ ขั้นตอนที่ 4 การประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างในการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ กองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 42 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 24 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจในการเรียน จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมุติฐาน ได้แก่ การทดสอบค่าที (t-test for independent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ REASAR เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 6 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ทบทวนความรู้เดิม (Review pior knowledge : R) ขั้นที่ 2 กระตุ้นการคิด (Engage to think : E) ขั้นที่ 3 ร่วมกิจกรรมการคิด (Active thinking : A) ขั้นที่ 4 แลกเปลี่ยนและนำเสนอผลการคิด (Share and show : S) ขั้นที่ 5 เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ (Appling : A) ขั้นที่ 6 สรุปและสะท้อนผลการเรียน (Reflection and conclusion : R) ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด
2. ประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปรากฏผลดังนี้
2.1 ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2.2 ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หลังการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ อยู่ระดับมากที่สุด