การพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายรายวิชาทัศนศิลป์ เรื่องทฤษฎีสีใน...
ชื่อผู้ศึกษา ธวัชชัย พิมัยรัมย์
ปีที่ทำการศึกษา ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบทเรียนบนเครือข่าย รายวิชาทัศนศิลป์ เรื่องทฤษฎีสีในงานทัศนศิลป์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลไม่ต่ำกว่า .50 ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนบนเครือข่าย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการหาประสิทธิภาพเครื่องมือ คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เรียงตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ใช้เกณฑ์ 27% ของจุง เตห์ ฟาน แบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มเก่ง อ่อน และปานกลาง จากนั้นใช้การสุ่มอย่างง่าย โดยการจับฉลากเพื่อเป็นตัวแทนแต่ละกลุ่มในการทดลอง 3 ครั้ง ได้กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้นจำนวน 42 คน แบ่งเป็น การทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่งจำนวน 3 คน การทดลองแบบกลุ่มเล็กจำนวน 9 คน และแบบภาคสนามจำนวน 30 คน
ในการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 มีจำนวน 38 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย (1) บทเรียนบนเครือข่ายรายวิชาทัศนศิลป์ เรื่องทฤษฎีสีในทัศนศิลป์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ (3) แบบประเมินด้านคุณภาพสื่อการเรียนรู้ (4) แบบประเมินความพึงพอใจ 7 ด้าน 36 ข้อ สถิติพื้นฐานที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเมื่อนำไปใช้จัดการเรียนรู้จริง ใช้ ค่า t-test แบบจับคู่ (pair t-test)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ได้บทเรียนบนเครือข่ายรายวิชาทัศนศิลป์ เรื่องทฤษฎีสีในงานทัศนศิลป์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เท่ากับ 82.5/80.66 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนบนเครือข่าย (E.I.) เท่ากับ 0.68 เป็นไปตามเกณฑ์คือไม่ต่ำกว่า .50 หรือร้อยละ 50
2. การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ใช้สอนจริง จำนวน 38 คน เมื่อ ได้ค่า t = 10.6445 ที่ได้จากการคำนวณ พบว่า มีค่ามากกว่าค่าวิกฤต t = 2.0262 (เมื่อ df = 37 ที่ α = .05 ) แสดงว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากคะแนนแบบทดสอบหลังเรียน สูงกว่าคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลจากการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน โดยภาพรวม 7 ด้าน 36 ข้อ ความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.57, S.D.= 0.73) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านด้านการปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน (x ̅ = 4.82, S.D.= 0.45) ความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ด้านเนื้อหาวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอน (x ̅ = 4.45 S.D. = 0.83) ความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก