ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียน
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยเน้นกิจกรรม TLLM
ชื่อผู้วิจัย นางสาวนันทยา วงศ์ชัย
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านแม่ลาย
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยเน้นกิจกรรม TLLM 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยเน้นกิจกรรมTLLM และได้รับการสอนตามปกติ 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการเรียนสาระวิทยาศาสตร์ โดยเน้นกิจกรรม TLLM
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนบ้านแม่ลาย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 5 จำนวน 2 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 22 คน ได้มาโดยการจับสลาก แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับการสอนโดยเน้น กิจกรรม TLLM และกลุ่มที่ได้รับการสอนตามคู่มือครู ใช้เวลาสอนกลุ่มละ 21 คาบ คาบละ 60 นาที
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ แผนการเรียนรู้ที่เน้นกิจกรรม TLLM แผนการสอนตามคู่มือครู และแบบวัดความคิดเห็นต่อการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยเน้นกิจกรรม TLLM วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที ( t –test) คำนวณด้วยวิธีทางสถิติ
การวิจัยปรากฏผลดังนี้
1. นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยเน้นกิจกรรม TLLM มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์หลังการสอน เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ สูงกว่าก่อนการสอน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
2. นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยเน้นกิจกรรม TLLM มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามคู่มือครูอย่างมีนัยสำคัญ .01
3. นักเรียนมีความคิดเห็นต่อการเรียนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยเน้นกิจกรรม TLLM อยู่ในระดับดี